“ชลน่าน” ขอปปช.จับตา 30 พ.ย. ชี้ชะตากม.เลือกตั้ง ส.ส.
“ชลน่าน” จับตา 30 พ.ย 65 ชี้ชะตากฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. ยกคำชี้แจง กกต.ไม่มีข้อความใดบ่งชี้ว่า ม.25 ม.26 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้อง ของ ส.ส./ส.ว 105 คน ผ่านประธานรัฐสภา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.(ฉบับที่…) พ.ศ. … มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ และศาลได้กำหนดนัดแถลง ด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธ ที่ 30 พ.ย 2565 เวลา 09.30 น.
ซึ่ง กกต.ในฐานะเจ้าของร่าง พ.ร.ป ได้ทำคำชี้แจงตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 พ.ศ 2564 และร่าง พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่.. พ.ศ. … ซึ่งประธาน กกต.ได้ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 พ.ศ 2564 ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ม.92 ถึง ม.94 ให้สอดคล้องกับรูปแบบการเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
อีกทั้ง ร่าง พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี และส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงจะได้รับ กกต.จึงไม่มีกรณีที่จะต้องคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตาม ม.92 ถึง ม.94
เรื่องนี้เป็นที่สนใจ มีการวิพากษ์วิจารณ์ คาดการณ์ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในแง่มุมต่างๆ นานา บางช่อง บางคน พูดถึงจะกลับไปหาร 500 ได้อีก ดูจากคำร้องแล้ว ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า ม.25 และ ม.26 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ม.93 และ ม.94 และกระบวนการตราขึ้นไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่เท่านั้น
สาระสำคัญ ของ ม.25 และ ม.26 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ยกเลิกการคำนวณ ส.ส. พึงมี และ ส.ส. บัญชีรายชื่อพึงได้รับ ตาม ม.93 กรณีเลือกตั้งทั่วไปในเขตเลือกตั้งที่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังประกาศผลไม่ครบทุกเขตเลือกตั้ง ตาม ม.94 กรณีภายใน 1 ปี หลังวันเลือกตั้งทั่วไป แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวต้องนำคะแนนจากเขตเลือกตั้ง ไปคำนวณด้วย เมื่อเปลี่ยนเป็นระบบเลือกตั้ง เป็นแบบบัตร 2 ใบ คิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อจากบัตรเลือกตั้งที่เลือกพรรคการเมืองแล้ว จึงไม่มีกรณีคำนวณ ตาม ม.93 และ ม.94
จากคำชี้แจงของ กกต.ไม่มีข้อความใดบ่งชี้ว่า ม.25 ม.26 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ม.93 และ ม.94 ผู้ร้องไม่ได้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หาร 100 ตาม ม.23 ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือไม่ จึงเป็นเหตุมิให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในกรณีนี้
ดังนั้น “ศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยว่า การยกเลิกไม่คำนวน ส.ส.พึงมี และส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองพึงจะได้รับ ตาม ม.25 และ ม.26 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ม.93 และ ม.94 และวินิจฉัยกระบวนการตราร่าง พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น ถ้าวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้ง กรณีไม่ใช่สาระสำคัญ 2 มาตรานี้ก็ใช้บังคับไม่ได้ ร่าง พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก็เข้าสู่ขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าเป็นสาระสำคัญ ก็ตกทั้งฉบับ ต้องไปยกร่าง พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้งใหม่ ส่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาใหม่ ไม่มีกลับไป หาร500 แน่นอน”
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews