“หมอระวี” ดันต่อนิรโทษ-เปลี่ยนชื่อเป็นสร้างเสริมสังคมสันติสุข
“หมอระวี” ยังดันต่อ กฎหมายนิรโทษ แค่เปลี่ยนชื่อลดแรงต้าน เป็น ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เตรียมล่าชื่อ ส.ส. ชงเข้าสภาฯสัปดาห์หน้า
จากกรณี นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เคยเคลื่อนไหวเสนอแนวคิด ผลักดันร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการนิรโทษกรรมคดีการเมือง และมีทั้งเสียงสนับสนุน และต่อต้านจำนวนมากนั้น ล่าสุด นพ.ระวี เปิดเผยว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อ และเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข เพื่อลดแรงต้าน
โดยเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของสภา ในสัปดาห์หน้า หลังได้มีการเดินสายหารือกับ ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนแกนนำกลุ่มสีเสื้อทางการเมืองหลายกลุ่ม เพื่อขอความเห็น และให้ช่วยสนันสนุน ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภา
สำหรับเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมสังคมสันติสุขโดยให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ส่วนเนื้อหาในร่างดังกล่าว มีสาระสำคัญ เช่น มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองหรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง
แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตนการต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพทรัพย์สินหรือสิทธิ์อย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองตามบัญชีแนบท้าย ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.49 ถึงวันที่ 30 พ.ย.65 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
มาตรา 6 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิ์ของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย และมาตรา 9 หากผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้กระทำความผิดซ้ำภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว
ห้ามมิให้ศาลรอลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับคดีที่กระทำความผิดภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว เป็นต้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews