“นักวิชาการ” วิเคราะห์เหตุ ภท.เนื้อหอมเชื่อสารพัดปัจจุบันหนุน
“นักวิชาการ” วิเคราะห์เหตุ ภูมิใจไทย เนื้อหอม เชื่อสารพัดปัจจัยหนุน มีเอกภาพ-ไร้ความขัดแย้ง ดันเป็นพรรคหลักตั้งรัฐบาล
รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มองความเคลื่อนไหวกระแสข่าวเรื่อง 37 ส.ส.จากหลายพรรคการเมือง เตรียมสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ว่า น่าจะเป็นสัญญาณบวกของพรรคภูมิใจไทย ที่มีกระแสพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะนักการเมือง คงไม่ย้ายไปพรรคที่ไม่มีอะไรขายเลย แต่ย้ายมาขนาดนี้ แสดงว่ามีจุดขาย คนที่ย้ายมาคงมีความมั่นใจในนโยบายพรรค ว่าดีพอสู้กับคู่แข่ง ที่เห็นเด่นๆ คือ เป็นนโยบายที่พูดได้ ทำได้
นอกจากนั้น ผลงานที่ผ่านมาในการผลักดันนโยบายของพรรคได้พิสูจน์ความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ ตรงนี้ ประชาชนเห็น แม้ว่ามีพรรคการเมืองอื่นพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้นโยบายผ่านเป็นกฎหมายเพราะบางพรรคกลัวเสียผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจการเมือง แต่พรรคก็สู้ยิบตาเพื่อรักษาสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน ที่ต้องไม่ลืม คือ ลักษณะเด่นในการทำงานการเมืองของพรรคภูมิใจไทย คือ ไม่สร้างเงื่อนไขทางการเมือง ไม่มีวาระซ่อนเร้นกับประชาชน มีจุดยืนชัดเจน ทำให้ ส.ส.ลูกพรรคสบายใจในการทำงาน
ซึ่งความสบายใจดังกล่าว มันก็มาจากความเป็นเอกภาพในพรรค ที่ไม่มีการกลุ่มมุ้ง ไม่แบ่งก๊ก แบ่งกลุ่ม เพื่อต่อรองเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มเหมือนพรรคการเมืองอื่นๆ จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคจนพรรคแตก
“ความมีเอกภาพทำให้ลูกพรรคไม่ต้องลำบากใจในการทำงานการเมืองและไม่มีแรงกดดันทางทั้งภายในภายนอก ไม่ต้องวิ่งหาอำนาจอื่น หรือผู้มีบารที่อยู่เหนือพรรคหรือนอกพรรคมากดดันผู้บริหารพรรคจนทำให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นเพียงตำแหน่งสมมติตั้งลอยให้ครบองค์ประกอบเท่านั้น สภาพปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในพรรคการเมืองอื่นทำให้ ส.ส.เหล่านี้ต้องตัดสินใจทิ้งพรรคการเมืองที่ไม่มีระบบ มีอำนาจซับซ้อนเกินไป หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคไม่มีอำนาจจริงตัดสินใจอะไรไม่ได้
จึงไม่น่าแปลกใจที่ ส.ส. เหล่านั้น ต้องย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย เพราะมีความเป็นระบบมากกว่า อย่างน้อยที่สุดก็มั่นใจได้แน่ว่าหัวหน้าพรรค คือ หัวหน้าพรรคตัวจริง และ มีอำนาจจริง ไม่ใช้ตุ๊กตามนุษย์ที่เขาอุปโลกให้เป็นหัวหน้าพรรคแต่ในนาม จากนี้ พรรคภูมิใจไทย
จะกลายเป็นพรรคขนาดใหญ่รองจากเพื่อไทยที่จะมีบทบาทการเมืองสูงหลังการเลือกตั้ง และในการจัดตั้งรัฐบาลหน้าภูมิใจไทยจะไม่ใช่พรรคตัวแปรอีกต่อไป แต่จะเป็นพรรคที่จะมีอิทธิทางการเมืองสูงในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นพรรคที่จะกำหนดวาระการเมืองซึ่งจะทำให้ความขัดแย้ง 2 ขั้วคลี่คลายลงได้ การวางบทบาทในการกำหนดวาระการเมืองเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง 2 ขั้ว คือ การปูทางไปสู่อนาคตทางการเมืองของภูมิใจไทยในสมัยต่อไป”
ด้าน ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต มองว่า นักการเมืองวิเคราะห์แล้วว่า ถนนทุกสายทางการเมือง ทุกค่าย ทุกขั้วกลุ่มการเมืองต่างยอมรับว่าพรรคภูมิใจไทย จะเป็นพรรคที่เติบโตมากขึ้นเป็นเท่าตัว หลังจากการเลือกตั้งปี 2566 อะไรที่ทำให้หลายๆคนเชื่อเช่นนั้น แน่นอนว่าองค์ประกอบสำคัญยืนยันด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ดังนี้ 1. เป็นพรรคที่มีเอกภาพ-วินัยของสมาชิกพรรคสูงมาก ไม่มีความขัดแย้ง หากมองพรรคร่วมรัฐบาลเฉพาะ3 พรรคหลัก ได้แก่ พลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์, และภูมิใจไทย แล้ว
พบว่า สัดส่วนการขอปรับเก้าอี้รัฐมนตรีมีน้อยที่สุด ย่อมชี้ให้เห็นถึงความสามัคคี 2.ผลงานที่ที่เป็นรูปธรรม การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ด้วยความอดทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ประกอบกับนโยบายกัญชา ที่ตอบโจทย์การพัฒนาการรักษาทางการแพทย์ และเพื่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม จึงเห็นความเคลื่อนไหวต่อนโยบายดังกล่าวในลักษณะที่ใช้ความอ่อนไหวและห่วงใยของผู้คนในสังคมแม้ว่าจะมีความพยายามตีเจตนาให้บิดเบือนเจตนา หรือเอาข้อเสียของนโยบายกัญชามาโจมตีของผู้เห็นต่าง ในเชิงดิสเครดิต ซึ่งเหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยมีผลงานโดดเด่นกว่าพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน สโลแกนที่ว่า “พูดแล้วทำ” กลายเป็นสัจจะวาจาสำคัญ 3. นักการเมืองที่ต้องการ “รีแบรนด์ภาพลักษณ์” ตัวเอง แน่นอนภูมิใจไทยจะถูกจับตามองให้เป็น “สะพานบุญ” ทางการเมืองให้บรรดานักการเมืองต่างค่าย
เนื่องจากพรรคภูมิใจไทย มีภาพของแนวคิดในเชิงอนุรักษ์นิยม ที่ไม่ปฏิเสธมิติการพัฒนาทางการเมืองแบบก้าวหน้า ภาพลักษณ์แบบนี้จึงกลายเป็นเงื่อนไขที่ลงตัวสำหรับนักการเมืองที่เคยมีแนวคิดสุดโต่ง หันมาสนใจพรรคการเมืองแบบที่เข้าได้กับทุกฝ่าย 4. ความโดดเด่นของผู้นำพรรค ความชัดเจนของนายอนุทิน ชาญวีรกูล สิ่งที่ปรากฏออกมาทั้งผลงาน และความใกล้ชิดประชาชน
การขับเครื่องบินรับส่งอวัยวะ ถือเป็นคะแนนเกื้อหนุนพรรค “คิดว่า การปล่อยชื่อ ส.ส.ที่จะร่วมพรรคภูมิใจไทยนั้น ยังไม่ครบทั้งหมด ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ตัวเลขจะไม่หยุดอยู่ที่จำนวนเท่านี้แน่นอน”
ขณะที่ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ว่า ที่ภูมิใจไทย เป็นเป้าหมายสำคัญของนักการเมืองจำนวนมากนั้น มีปัจจัยที่ต้องมองคือ 1.ฐานทางอุดมการณ์ของพรรคที่มีลักษณะกลาง ๆ ไม่สุดโต่ง 2.พรรคมีนโยบายที่ตอบสนองต่อคนหลากหลายกลุ่ม 3.พรรคสามารถเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทางการเมือง เช่น ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง ได้จากการดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับประชาชน และขับเคลื่อนผลงานได้จริง 3-4 ข้อนี้ ก็เพียงพอแล้ว เพราะเท่ากับว่า พรรคมีความต้องการจะเติบโต นี่คือสิ่งที่ทำให้นักการเมืองรู้สึกเชื่อมั่น ดีกว่าไปอยู่กับพรรคที่เล็กลงทุกวัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews