รบ.เตือนเอกชนตื่นตัวรับมาตราการสิ่งแวดล้อมอียู
รัฐบาลเตือนเอกชนตื่นตัวพร้อมรับมาตรการสิ่งแวดล้อมอียู “CBAM” องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกออกใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เกือบ6 พันผลิตภัณฑ์
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanismหรือ CBAM) เพื่อกระตุ้นให้ประเทศผู้ส่งออกเร่งผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมตามที่อียูกำหนด จะเริ่มบังคับใช้ วันที่ 1 ม.ค.2566 รัฐบาลได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว มีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO เป็นผู้ให้บริการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทั้งในระดับ ผลิตภัณฑ์ องค์กร บุคคล และกิจกรรม
ทั้งนี้ การบังคับใช้มาตรการ CBAM ในช่วง 3 ปีแรก (ปี 2566–2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมโดยผู้นำเข้ามีหน้าที่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อและส่งมอบใบรับรองCBAM ประกอบการนำเข้าด้วย (ราคาใบรับรอง อ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู ราคาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.65 ประมาณ 85 ยูโรต่อ 1 ตันคาร์บอน)
ข้อมูลที่ต้องรายงาน ประกอบด้วย ปริมาณสินค้าทั้งหมด ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมของสินค้าที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ของกลไก CBAM ทั้งนี้ ค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า (Embedded emissions) จะนำCarbon Footprint มาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินด้วย ซึ่งประเทศไทย มีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่ให้บริการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แบ่งการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในระดับผลิตภัณฑ์ มี 3 ประเภท ได้แก่
-เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) หรือ CFP
-เครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือฉลากลดโลกร้อน (Carbon Footprint Reduction) หรือ CFR
-เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Carbon Footprint of Circular Economy Product) หรือ CE-CFP
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า แม้ว่าปัจจุบันอียูยังไม่ได้ประกาศข้อสรุปรายละเอียดของมาตรการ CBAM และยังพอมีเวลาในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านอยู่บ้าง แต่ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม การปรับกระบวนการผลิตให้ปล่อยคาร์บอนต่ำการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ รัฐบาล
โดย กระทรวงพาณิชย์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ประสานงานกันเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ดีและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งสามารถบรรลุเป้าหมาย การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews