“จิรัฎฐ์” ชี้ ป.ป.ช.ไม่แจ้งข้อกล่าวหา “ไตรรงค์” ซ้ำรอย GT200
“จิรัฎฐ์” ชี้ ป.ป.ช. มีมติไม่แจ้งข้อกล่าวหา “ไตรรงค์” คดีจีทูจีมันเส้น กำลังซ้ำรอยคดี GT200
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 5 ต่อ 2 ไม่แจ้งข้อกล่าวหา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ในคดีซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานว่าไตรรงค์เป็นผู้รับรู้รับทราบในกระบวนการทุจริต
โดยนายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า ขอตั้งข้อสงสัยว่านายไตรรงค์ในฐานะประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจ จะไม่รับรู้รับทราบการทำสัญญาซื้อขายที่เกิดความเสียหายได้อย่างไร และเหตุใด ป.ป.ช. จึงรีบตัดความเป็นไปได้นี้ออกไป ทั้งๆ ที่เป็นปัจจัยและบางช่วงบางตอนของข้อมูลหลักฐาน ของพฤติการณ์ที่นำไปสู่ความเสียหาย
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการที่นายไตรรงค์รอดจากการถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาและไต่สวนคดีมันเส้นครั้งนี้ เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพิ่งจะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้ไตรรงค์เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้กำลังจะเดินซ้ำรอยกับกรณี GT200 ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานและตัดรายชื่อผู้ต้องสงสัยที่เหลือออก
ทั้งที่ตามเอกสารหลักฐานการซื้อขาย ปรากฏลายมือลงนามโดย พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ลงนามรับหลักการและสั่งซื้อชัดเจน
นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า ในกรณีของ GT200 เป็นที่ชัดเจนว่า ป.ป.ช. ทำคดีแบบเลือกปฏิบัติและมีเจตนาละเว้นการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ และแม้กระทั่งอัยการสูงสุดยังต้องแย้งกลับในสำนวน ว่าเหตุใด ป.ป.ช. จึงไม่กล่าวหาผู้อนุมัติสั่งซื้อ ทำให้เป็นที่น่ากังวลว่า ป.ป.ช. กำลังจะดำเนินการซ้ำรอยแบบเดิมในคดีมันเส้นนี้ด้วยหรือไม่
ซึ่งการตัดผู้มีส่วนรับผิดชอบออกดื้อๆ แบบนี้ ทำให้ประชาชนที่ตั้งคำถามกับการทำงานของ ป.ป.ช. แต่เดิมอยู่แล้ว ยิ่งสงสัยในเจตนาของ ป.ป.ช. มากขึ้น และเราต้องไม่ลืมว่า ป.ป.ช. มีที่มาจากไหน ส.ว. ที่แต่งตั้ง ป.ป.ช. มีที่มาจากไหน หาก ป.ป.ช. บริสุทธ์ใจจริง ควรจะต้องเปิดเผยข้อมูลออกมา
โดยพรรคก้าวไกลเห็นว่านี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าองค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ป.ป.ช. จะต้องถูกปฏิรูป ซึ่งพรรคก้าวไกลเคยเสนอเป็นนโยบายเอาไว้แล้ว ว่าในอนาคตกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน จะต้องยึดโยงกับประชาชนและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
โดยผ่านการเสนอชื่อจากทั้งผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน และจากที่ประชุมศาล และต้องผ่านการรับรองจากเสียง 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงเพิ่มกลไกในรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนริเริ่มกระบวนการถอดถอน ป.ป.ช.ได้ ผ่านการเข้าชื่อ 20,000 รายชื่อ เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่า ป.ป.ช. จะทำงานอย่างเข้มข้นในการตรวจสอบทุกรัฐบาล ทุกหน่วยงานทุกบุคคลอย่างไร้ข้อยกเว้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews