ประชุมร่วมรัฐสภาล่ม 2 วันติด ผ่านแค่มาตราเดียว หลังลงมติร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ฝ่ายค้านโวย ประธานดึงดันจะเดินหน้าโหวตใหม่ ทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบ ย้ำ ครูและนักเรียนไม่อยากได้กฎหมายนี้
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันนี้ (11 ม.ค.) เป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยเมื่อเข้าสู่ช่วงการลงมติในมาตรา 8 (1) ซึ่งเป็นมาตราที่เพิ่มขึ้นใหม่เกี่ยวกับสมรรถนะผู้เรียนช่วงแรกเกิดจนครบหนึ่งปี หลังจากนับองค์ประชุมมีสมาชิกมาแสดงตน 349 คน นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้ตั้งคำถามเพื่อลงมติว่า “ผู้ใดเห็นด้วยกับผู้แปรญัตติที่ขอสงวนคำแปลญัตติกดปุ่มเห็นด้วย ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับผู้แปรญัตติที่ขอสงวนคำแปลญัตติกดปุ่มไม่เห็นด้วย”
ซึ่งในระหว่างระหว่างที่ประธานพูดคำถามมีสมาชิกกดลงคะแนนแล้ว ทำให้อาจเกิดความคลาดเคลื่อน ประธานในที่ประชุมจึงขอล้างระบบเพื่อลงมติใหม่และถามคำถามใหม่ เพื่อลงมติ แต่เมื่อมีการแสดงผลการลงมติปรากฏว่าจำนวนผู้ลงมติจากเดิมเหลือเพียง 339 คน ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ลงมติไม่ถึงกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม ทำให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.
พรรคเพื่อไทย ขอให้ประธานฯแสดงผลการประชุมอีกครั้ง เนื่องจากยังติดใจตัวเลขผู้ลงมติที่เห็นว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แต่ประธานฯ เห็นว่า ตัวเลขหน้าจอแสดงผลครบ นายจิรายุ จึงเสนอให้ลงมติใหม่ ทำให้สมาชิกหลายคนไม่เห็นด้วย เพราะได้ปิดการลงมติไปแล้ว ไม่สามารถลงมติใหม่ได้
ด้านนายพีระเพชร ศิริกุล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า องค์ประชุมไม่ครบต้องปิดองค์ประชุม พร้อมย้อนถามประธานฯว่า หากไม่ได้ดั่งใจ จะต้องทำใหม่ไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่ เพราะเรื่องนี้ประชาชนจับตาดูอยู่ และถ้าพูดว่ากฎหมายฉบับนี้ครูทั้งประเทศไม่พอใจ เพราะไม่มองเห็นความสำคัญของครูและเด็กเลย แม้แต่ฝ่ายที่เขียนกฎหมายก็ไม่อยากให้ผ่าน เช่นเดียวกับนายจิรายุ จึงย้ำอีกครั้งว่า ตัวเลขที่แสดงผลถูกต้องแล้ว เมื่อไม่ครบองค์ประชุมประธานควรสั่งปิดการประชุมหรือหาแนวทางดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ขอให้ประธานในที่ประชุม ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภานับองค์ประชุมใหม่และลงมติใหม่ด้วยวิธีอื่น เพื่อให้การประชุมสามารถเดินหน้าต่อได้ แต่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา เห็นด้วยกับฝ่ายค้าน ย้ำว่า หากตัวเลขไม่ครบ ก็จำเป็นต้องปิดการประชุม ทำให้ประธานฯ สั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 12.49 น.
อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมกันของรัฐสภาส่อแววมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมตั่งแต่เปิดการประชุม เพื่อลงมติในมาตรา 7 (1) เกี่ยวกับวัตถุประสงค์การพัฒนาผู้เรียน ที่ค้างการลงมติ เพราะการประชุมรัฐสภาล่ม ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (10 ม.ค.) แม้ว่าองค์ประชุมจะครบสามารถลงมติได้ แต่เมื่อต้องลงมติยังต้องใช้เวลาในการรอเกือบ 30 นาที
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnew