“ปดิพัทธิ์” อัด กกต. ยิ่งใกล้เลือกตั้งยิ่งโชว์แต่ความไม่พร้อม
“ปดิพัทธิ์” อัด กกต. ยิ่งใกล้เลือกตั้งยิ่งโชว์แต่ความไม่พร้อม ข้องใจข้ออ้างรายงานผลเรียลไทม์ไม่ได้ เพราะขาดเทคโนโลยี ชี้ประชาสังคมใช้กันมานานแล้ว
นายปดิพัทธิ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีที่วันพรุ่งนี้ (18 ม.ค. 2566) กมธ. ได้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าชี้แจงและหารือถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ซึ่งที่ผ่านมามีข้อวิพากษ์วิจารณ์และข้อข้องใจจากสังคมหลายเรื่อง
โดยปดิพัทธิ์ ระบุว่า ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ที่ยิ่งใกล้ครบกำหนดวาระของรัฐบาล ก็ยิ่งปรากฏกระแสข่าวเกี่ยวกับการยุบสภามากขึ้น หรือหากไม่มีการยุบสภาก็มีกำหนดที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า การเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ กกต. กลับไม่ได้แสดงท่าทีว่ามีความพร้อมที่มากขึ้น ในทางกลับกัน ยิ่งแสดงตนถึงความไม่พร้อมในการจัดการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ
ในการนี้ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จึงได้เชิญ กกต.ให้มาชี้แจงในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ของสังคม ในวันที่ 18 มกราคม 2566 ซึ่งโดยส่วนตัว ก็มีข้อสงสัยหลายด้านที่เห็นตรงกับ กมธ. หลายคน ไม่ว่าจะเป็นการอัปเดตฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ซึ่งจะนำพาไปสู่การแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่ควรใช้เวลานาน แต่ขณะนี้กลับยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น เป็นเรื่องที่ กกต. ควรทำได้อย่างรวดเร็วและเปิดเผยมากกว่านี้
รวมทั้งเรื่องการกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร ที่ กกต. เคยออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจะแบ่งออกเป็นสองกรณี คือกรณีที่มีการยุบสภาและกรณีที่ไม่มีการยุบสภา ซึ่งปรากฏว่าตัวเลขวงเงินมีความแตกต่างกันมากถึง 5 เท่า ทั้งในระดับ ส.ส.แบบแบ่งเขตและในระดับพรรคการเมือง นำไปสู่คำถามว่าการกำหนดให้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้ เพื่อจงใจทำให้เกิดความสับสนและความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ตั้งคำถามอย่างมาก คือเรื่องของเทคโนโลยี ที่ กกต. เพิ่งออกมาระบุว่าตัวเองไม่มีความพร้อมในการจัดทำแอปพลิเคชันรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการลดข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562 เช่น การใช้เวลาที่ยาวนานเกินควรมาก กว่าที่จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ การไม่มีการรายงานผลแบบเรียลไทม์ และการไม่มีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดย กกต. ได้อ้างถึงการไม่มีเแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากที่ผ่านมาภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในด้านการมีส่วนร่วมของพลเมือง (civic tech) หรือองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งอื่นๆ ต่างก็มีแพลตฟอร์มรายงานผลการเลือกตั้งอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จะบอกว่าไม่มีเทคโนโลยีนี้ไม่ได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews