Home
|
ข่าว

“มัลลิกา” อภิปรายพรบ.สื่อชี้ทำขัดแย้งควรยุตินำไปทบทวนใหม่

Featured Image
“มัลลิกา” อภิปราย พรบ.จริยธรรมสื่อ ชี้สมาคมนักข่าว คัดค้าน-สมาคมนักหนังสือพิมพ์จี้ ถอน บ่งบอกชัดนำมาซึ่งขัดแย้ง แนะควรยุติแล้วนำกลับไปทบทวนใหม่

 

 

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 8 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่2เป็นพิเศษ บรรุจุวาระวันอังคาร ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น เป็นการที่ทั้งสองสภา จะต้องพิจารณาพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอและเป็นการค้างมาจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565

 

โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่เสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อบรรจุนั้น ลงลายมือเสนอโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และเป็นร่างพระราชบัญญัติที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้กรมประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลเป็นเจ้าภาพดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 บัดนี้ผ่านเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว ก็นำเข้าสู่การพิจารณาอย่างรวบรัด ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอย่างกว้างขวางรวมทั้งแวดวงสื่อมวลชนด้วย

 

สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ สมาคมนักข่าวและโทรทัศน์ไทย ออกมาคัดค้านกฎหมายนี้และเรียกว่ากฎหมายควบคุมสื่อ ส่วนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็ออกแถลงการณ์เสนอให้ถอนร่างนี้ออกไปและให้เอาไปชี้แจงต่อสาธารณะเสียก่อนด้วย

 

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่และสมาชิกจำนวนมากแสดงออกอย่างชัดเจนโดยการไม่เข้าร่วมประชุมส่วนด้านนอกสภาก็มีการออกแถลงการณ์ ก็ชัดเจนว่าการนำเสนอกฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องนำไปสู่ความขัดแย้งและเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางไม่ตกผลึกทางความคิดที่สำคัญที่สุดคือใช้เวลาร่างที่ยาวนานขณะที่บริบทของสังคมและบริบทของสื่อและนวัตกรรมของสี่อก็เปลี่ยนแปลงไปไกลแล้ว

 

ขณะเดียวกัน นางมัลลิกา กล่าวด้วยว่า ทุกฝ่ายแสดงความห่วงใยเรื่องนี้รวมทั้งตนด้วย เพราะในฐานะที่เคยประกอบวิชาชีพนักสื่อสารสื่อมวลชน ก็มีความกังวลประเด็นการเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจแทรกแซงความอิสระของสื่อมวลชนและทำลายกลไกการกำกับดูแลกันเอง ซึ่งตรงจุดนี้คือเกียรติยศของนักสื่อสารมวลชนและจุดนี้เองที่เรียกว่าจริยธรรมคุณธรรมแต่ในกฎหมายไม่สามารถนิยามสาระสำคัญนี้ได้ จึงไม่แปลกใจที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักสื่อสารมวลชนจะไม่ยอม

 

โดยเฉพาะที่มาของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และที่มาของรายได้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะร่างพ.ร.บ.ระบุในบทเฉพาะกาลให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นคณะกรรมการในวาระเริ่มแรกรวมทั้งให้รัฐบาลจ่ายเงินให้ทุนประเดิมและจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่าย รวมถึงเงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมปีละไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท ที่มาเหล่านี้ล้วนจะนำไปสู่การเข้าควบคุมสื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตนจึงเห็นว่าอะไรก็ตามที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งควรจะยุติและกลับไปทบทวน

 

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคณะรัฐมนตรีในชุดปัจจุบันด้วยเช่นกัน อันเนื่องมาจากว่ากฎหมายฉบับนี้ร่างมาตั้งแต่ปี 2560 คือ ก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดปัจจุบันแล้วร่างมาต่อเนื่องทะลุมิติจนถึงรัฐบาลนี้ ขณะที่ผู้รับผิดชอบหลัก คือ นายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน คือ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เซ็นเสนอมาตอนที่เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube