เพื่อไทย เสนอนโยบาย 6 ข้อ ปราบโจรไซเบอร์
เพื่อไทย เสนอนโยบาย 6 ข้อ ปราบโจรไซเบอร์ สยาม ชี้ภัยโกงออนไลน์คือปัญหาความมั่นคงระดับชาติ แนะ รัฐตั้งคณะกรรมการระดับชาติ – เร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ ปชช.
พรรคเพื่อไทยจัดเสวนา เพื่อไทยมา ปัญหาโจรไซเบอร์ต้องจบ โดยมีนายสยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส. หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย, นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย, น.ส.จุฑาพร เกตุราทร และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยร่วมเสวนา
โดยนายสยาม กล่าวว่า จากการติดตามปัญหาภัยไซเบอร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าความเสียหายจากโจรไซเบอร์ ถือเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศแล้ว ตนได้รับฟังเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายจำนวนมาก ที่พบมากคือเรื่องซื้อขายของออนไลน์ อาทิ การซื้อขายของไม่ตรงปก
รวมไปถึง เด็กเยาวชนที่เล่นเกม อยากอัพเลเวลต้องไปซื้อไอเท็มเพิ่มซึ่งต้องใช้เงิน เมื่อต้องใช้เงิน เด็กบางคนถูกชักชวนไปเปิดบัญชีม้า รวมทั้งมีการฉ้อโกงทางโทรศัพท์ ทั้งในลักษณะของการโทรและข้อความ ทั้งนี้ที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ได้พยายามแก้ไขปัญหาร่วมกันกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการคลัง ที่ดูแลเรื่องบัญชีม้า ตัวแทนสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท.มาโดยตลอด
ซึ่งหลังจากได้รวบรวมปัญหาจากผู้เสียหายและอุปสรรคในการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน จึงนำเสนอแนวทางที่ควรจะแก้ไขคือ 6 แนวทาง คือ การออกกฏหมายที่สำคัญจำเป็น รวดเร็ว ในการระงับยับยั้งอาชญากร, ต้องตั้งกองกำกับการไซเบอร์ทุกจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชนแต่ละพื้นที่, กำหนดการใช้ซิมการ์ดของแต่ละบุคคล, การปราบปรามบัญชีม้า ซึ่งมีจำนวนหลายล้านบัญชี, การเสริมสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเยาวชน ติดความรู้ให้ชาวบ้าน ไม่ให้ถูกชักชวนการลงทุนจากอาชญากร
ด้านนายศรัณย์ กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีวิธีการที่สามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ แต่รัฐบาลยังปล่อยผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ พรรคเพื่อไทยได้อภิปรายในสภาว่า เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่หลอกหลวง มีประชาชนเป็นผู้เสียหายแล้วมูลค่ารวมมากกว่า 10 – 100 ล้าน บาท จนถึงวันนี้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันดังกล่าวยังไม่ถูกดำเนินการแต่อย่างใด ทุกอย่างไม่ใช่ปัญหาที่เราไม่สามารถรับมือได้
ปัญหาตอนนี้คือรัฐบาลไม่ทำ หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบไม่สามารถปิดได้ คดีส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ใช่อาชญากรรมที่มีความซับซ้อนมากขนาดนั้น เช่น การชักชวนหรือหลอกให้ลงทุน ซึ่งตนเคยพูดคุยกับเหยื่อหลายคน ทุกเสียงเห็นตรงกันว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาพเศรษฐกิจ การบริหารบ้านเมือง ประชาชนต้องหารายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากรายได้หลัก
ซึ่งไม่ใช่เกิดจากความโลภ ประชาชนไม่เคยได้ ไม่เคยมีความหวังจากรัฐบาล ทำให้ประชาชนต้องเลือกไปหาความเสี่ยงนั้น กว่าภาครัฐจะมีท่าทีก็กินเวลานาน อย่างกรณีที่มีการเปิดเผยชื่อเว็บไซต์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ตอนนี้เว็บไซต์ดังกล่าวก็เปลี่ยนชื่อไปแล้ว
ด้านน.ส.จุฑาพร กล่าวว่า ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคธุรกิจและบุคคล ในประเทศไทย มีมูลค่าความเสียหายเกือบ 30,000 ล้านบาทซึ่งถือว่าเยอะมาก ข้อมูลจากศูนย์แจ้งความออนไลน์ของทางตำรวจ ในปีที่ผ่านมามีคดีที่แจ้งมากกว่า 200,000 คดี ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งความในเรื่องอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกว่า 170,000 กว่าคดี
ซึ่งประเภทที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือการถูกหลอกให้ซื้อขายของออนไลน์ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ปัญหานี้จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด โดยในระยะสั้น หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนควรมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ให้แต่ละกลุ่มประชากร รู้เท่าทัน ภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ในระยะยาว ต้องมีการทำงานร่วมกันมากขึ้นระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจากภาคธนาคาร
ซึ่งถือเป็นผู้มีฐานข้อมูลบัญชี หากได้มีการพิสูจน์ทราบแล้วว่ามีการเปิดบัญชีม้า ให้ทำการอายัดบัญชีได้ทันท่วงที โดยการฟรีซบัญชีม้าไว้ ก่อนที่เงินจะถูกโอนออกนอกประเทศ หรือถูกโอนเป็นสกุลเงินดิจิทัลได้ นอกจากนี้ หน่วยงาน กสทช. จะสามารถเข้ามาป้องกันและปราบปรามการโกงทางไซเบอร์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews