นายกฯ สั่งวางแผนทำธุรกิจเพิ่มกำลังซื้อสินค้าฮาลาล
นายกฯ สั่งวางแผนทำธุรกิจอุปโภค บริโภคประชากรมุสลิม หวังเพิ่มกำลังซื้อสินค้าฮาลาล พัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ – ท่องเที่ยว ขยายการลงทุนเพิ่มเติม
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนแนวทางการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการอุปโภค/บริโภคของประชากรมุสลิม หรือผู้นับถือศาสนาอิสลาม เชื่อมั่นว่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และเป็นการเปิดโอกาสที่ดีให้กับภาคธุรกิจไทยได้ขยายการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต จากกำลังซื้อสินค้าฮาลาลที่เพิ่มมากขึ้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลสำรวจของ Pew Research Center คาดว่า จำนวนชาวมุสลิมทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 2,200 ล้านคนภายในปี 2030 หรือคิดเป็น 26.4% ของประชากรโลก ซึ่งในปัจจุบันมีถึง 49 ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ประเมิน วางแผนแนวทางการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประชากรมุสลิม
ซึ่งมีพฤติกรรมการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย ที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากระเบียบข้อบังคับของศาสนา สอดคล้องกับการประเมินของ Adroit Market Research ที่คาดว่าตลาดสินค้าฮาลาลทั่วโลกจะเพิ่มจาก 7.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020 เป็น 11.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2028 หรือขยายตัวเฉลี่ย 5.6% ต่อปี (https://www.adroitmarketresearch.com/industry-reports/halal-market)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจาก Halal Focus พบว่าชาวมุสลิมใช้จ่ายในสินค้าประเภทอาหารมากสุด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 62% ของรายจ่ายทั้งหมดในสินค้าฮาลาล รวมถึงข้อมูลจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์ฯ ยังพบว่า ในปี 2564 ตลาดอาหารฮาลาล และการเกษตรฮาลาลมีมูลค่า 183 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือ 14 % ของตลาดอาหารฮาลาล และการเกษตรฮาลาลโลก โดยประเทศไทยซึ่งพัฒนาศักยภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลอย่างต่อเนื่อง มีส่วนแบ่งตลาดอาหารฮาลาล และการเกษตร 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นคิดเป็น 15.8%
ทั้งนี้ การที่ชาวมุสลิมใช้จ่ายในสินค้าประเภทอาหารมาก จึงถือเป็นโอกาสดีของไทยในการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันไทยมีศักยภาพความแข็งแกร่งด้านสินค้าฮาลาล เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลอันดับที่ 12 ของโลก โดยอาหารฮาลาลคิดเป็น 20% ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของไทย และ 60% เป็นการส่งออกไปยังประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน โดยอาหารที่มีศักยภาพ ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาทูน่ากระป๋อง สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ สินค้าประมง ผักผลไม้แปรรูป เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องสำอาง
นอกจากนี้ ชาวมุสลิมยังมีการใช้จ่ายในเรื่องการท่องเที่ยวสูง คิดเป็น 8% ของรายจ่ายทั้งหมด ซึ่งไทยถือเป็นอีกจุดหมายที่ชาวมุสลิมให้ความสนใจเดินทางมาเที่ยว จากข้อมูลจากการจัดอันดับโดย Global Muslim Travel Index (GMTI) ปี 2022 ไทยติด 1 ใน 5 ประเทศที่ได้รับความนิยมในการท่องเที่ยวสำหรับชาวมุสลิมนอกกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม (Non-OIC) ประกอบกับ ศักยภาพด้านภูมิศาสตร์ของประเทศ ซึ่งชาวมุสลิมส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียแปซิฟิก ใกล้ไทย จึงเดินทางมาเที่ยวสะดวก โดยจากการประเมิน ในปี 2026 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมถึง 230 ล้านคน
“นายกรัฐมนตรี กำหนดและเน้นย้ำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ จึงเป็นโอกาสให้ไทยวางกลยุทธ์รองรับ ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการส่งเสริมศักยภาพของไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอาหาร และด้านการท่องเที่ยว ที่ไทยมีศักยภาพสูง ซึ่งรัฐบาลได้มุ่งพัฒนาภาพลักษณ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหนึ่งช่องทางในการขับเคลื่อน Soft Power ของอาหารไทย พร้อมยังเชื่อมั่นว่า การให้ความสำคัญกับแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำให้ไทยได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจ”
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews