รัฐบาลย้ำจำเป็นเสนอเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและทำให้บุคคลสูญหาย แจงต้องเตรียมความพร้อม เพื่อให้การปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงการเลื่อนบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ (14 ก.พ. 66) เห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. ….
ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป (จากเดิมที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566) เพื่อให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินคดีในชั้นศาลได้ นั้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานหลักที่เสนอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีข้อชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุมและควบคุมตัวอย่างต่อเนื่องไว้ตลอดเวลาจนส่งพนักงานสอบสวน ที่ต้องเก็บไฟล์ภาพและเสียงไว้ตลอดจนคดีกว่าคดีจะขาดอายุความ
จึงต้องมีแหล่งจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งมาตรา 22 ในเรื่องการบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมตัวผู้ต้องหา และควบคุมตัวโดยผู้ที่จับกุม ไม่ใช่เฉพาะแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผู้ที่ไปดำเนินการควบคุมตัว ต้องมีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องจนส่งพนักงานสอบสวน
นอกจากนี้ การออก พ.ร.ก. เรื่องนี้มิได้เป็นเรื่องทางฝ่ายการเมือง แต่เป็นเรื่องที่ ตช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ ได้ร้องขอโดยแท้ เพราะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องอุปกรณ์การบันทึกภาพและเสียง อุปกรณ์การจัดเก็บข้อมูล รวมถึงระบบในการจัดเก็บ การดาวน์โหลดข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากในแต่ละวันตำรวจมีการเผชิญเหตุ และจับกุมผู้กระทำความผิดทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก มีกำลังพลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่ต่ำกว่า 150,000 นาย ทั้งฝ่ายป้องกันปราบปราม สืบสวน จราจร ฝ่ายควบคุมฝูงชน สอบสวน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงด้วยว่า ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้ต้องมีการส่งข้อมูลให้กับผู้รับแจ้ง คือ พนักงานอัยการ และฝ่ายปกครองในทันทีด้วย ซึ่งการทำงานจะต้องมีการจัดตั้งเป็นระบบประสานส่งต่อกัน กำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกัน และควรมีการซักซ้อมการปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการดังกล่าวอย่างครบถ้วน หากบังคับใช้ทันที โดยไม่เลื่อน อาจจะเกิดความเสียหายในวงกว้าง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews