ครม.เห็นชอบให้ไทยเจรจาทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ CEPA กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ครม.เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) พร้อมทั้งเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับใช้ในการเจรจาจัดทำความตกลง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับ 18 ประเทศ รวม 14 ฉบับ ส่วนการจัดทำความตกลงฉบับนี้ ถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง ถือเป็นตลาดศักยภาพใหม่ของไทย โดยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้า การธนาคาร และการคมนาคมในตะวันออกกลาง ตลอดจนเป็นแหล่งขนถ่ายและส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค ในปี 2565 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง
สำหรับร่างกรอบเจรจาจัดทำความตกลงฉบับนี้ ใช้หลักการเดียวกันกับการยกร่างรอบการเจรจา FTA ฉบับอื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ส่งเสริมและดึงดูดการลงทุน 2)ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนของไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยให้มีระยะเวลาในการปรับตัวและมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น สำหรับสาระสำคัญร่างกรอบเจรจาจะครอบคลุม 20 ประเด็น อาทิ
1.การค้าสินค้า เช่น 1)ลดหรือเลิกมาตรการและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีให้มากที่สุดล 2)ให้มีระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการปรับตัวที่เหมาะสมแก่สินค้าที่มีความอ่อนไหว เช่น อินทผาลัม รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบจากการลดภาษี
2.การค้าบริการ เช่น 1)มีกฎเกณฑ์การค้าบริการที่มีมาตรฐานสูงในระดับสากล 2)มีตลาดการค้าบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเพิ่มเติมจากข้อผูกพันการเปิดตลาดของประเทศภาคีภายใต้ WTO และ 3)เปิดตลาดการค้าบริการในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ และมีความพร้อมและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
3.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการค้าดิจิทัล ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกและความร่วมมือทางการค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการค้าดิจิทัล
4.ทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมการใช้ความยืดหยุ่น ข้อยกเว้น และข้อจำกัดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างสมดุลระหว่างเจ้าของสิทธิ ผู้บริโภค และสาธารณชนโดยรวม ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขให้ไม่มีข้อจำกัดเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงยาและเทคโนโลยีสุขภาพที่จำเป็น ส่วนทรัพยากรพันธุกรรมและพันธุ์พืชนั้น ต้องไม่กระทบวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อย
5.วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยทุกกลุ่มระดับ สามารถประกอบธุรกิจและใช้ประโยชน์จากความตกลง
6.การค้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น 1)ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับกฎระเบียบภายในประเทศ 2)ประเทศคู่ภาคีจะต้องไม่นาข้อบทนี้มาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า 3)ส่งเสริมความร่วมมือด้านสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม
7.อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า เช่น ลดการใช้มาตรการด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าตามหลักการ ของความตกลงของ WTO 2)ส่งเสริมการใช้มาตรฐานระหว่างประเทศที่มีความเหมาะสมและปฏิบัติได้
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ไทยขาดดุลการค้าน้อยลง เนื่องจากไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้มากขึ้น โดยจากผลการศึกษาพบว่า จะทำให้ GDP ของไทย ขยายตัว 318 – 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ ผลิตภัณฑ์ไม้ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews