“ธนาธร” ลงชลบุรี-ระยอง ช่วยผู้สมัครพรรคก้าวไกลหาเสียง
“ธนาธร” ลงพื้นที่ ชลบุรี-ระยอง ช่วยผู้สมัครพรรคก้าวไกลหาเสียงต่อเนื่อง ตัวแทนชาวประมงเข้าสะท้อนปัญหา
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ออกเดินสายช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล อย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้เดินทางไปที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครหลายคน ทั้ง ชวาล พลเมืองดี ผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี เขต 3 (เบอร์ 3), นภัสวรรณ มณีรัตน์โรจน์ ผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี เขต 4 (เบอร์ 8), กฤช ศิลปชัย ผู้สมัคร ส.ส.ระยอง เขต 2 (เบอร์ 5) และ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ผู้สมัคร ส.ส.ระยอง เขต 4 (เบอร์ 2)
โดยช่วงบ่ายมีการเปิดวงพบปะพูดคุยกับประชาชน ที่ท่าเทียบเรือสหกรณ์กลุ่มประมงบ้านเพ ต.บ้านเพ อ.เมือง จ.ระยอง ร่วมกับ กฤช ศิลปชัย ผู้สมัคร ส.ส.ระยอง เขต 2 เพื่ออัปเดตความคืบหน้าร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง 2558 และสิ่งที่พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าทำต่อในสภาฯ สมัยหน้า เพื่อแก้ปัญหาชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก. ดังกล่าว
ในวงดังกล่าว ตัวแทนชาวประมงหลายคนได้สะท้อนปัญหาในทิศทางเดียวกัน ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากปัญหา พ.ร.ก.การประมง ไม่ได้ดีขึ้นและยังย่ำแย่ลงในบางเรื่อง โดยเฉพาะยังคงมีการออกกฎระเบียบมาควบคุมชาวประมงเพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง แม้ช่วงหลังชาวประมงจะออกไปเรียกร้องกันบ่อยขึ้น แต่ก็มีแต่การรับฟังโดยไม่มีการแก้ไขปัญหา
ในส่วนของนายธนาธร ได้สรุปความเป็นไปล่าสุดของการแก้ไข พ.ร.ก.ประมง โดยระบุว่าในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่มาจนเป็นพรรคก้าวไกล ตนและเพื่อนร่วมงานได้พูดคุยและรับฟังปัญหาจากชาวประมงทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง จนได้ประเด็นในการแก้ไข พ.ร.ก.การประมง และทำการยื่นร่างกฎหมายไปฉบับหนึ่งในเดือนตุลาคม 2564 และอีกฉบับในเดือนกันยายน 2565
ทั้งนี้ ในรายละเอียดของร่างกฎหมาย ชาวประมงทุกคนที่เฝ้าติดตาม แสดงความเห็น และขับเคลื่อนเรียกร้องน่าจะเข้าใจดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลมองว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ นอกจากเรื่องการปรับลดโทษให้เหมาะสมได้สัดส่วนแล้ว ก็คือการให้มีตัวแทนชาวประมง ทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน รวมทั้งตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าไปอยู่ในกรรมการประมงจังหวัดให้มากขึ้น
โดยหลักการ ก็คือการดึงเอาอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระยะไมล์ทะเลที่ทำการประมงได้ ฤดูกาลประมง และเครื่องมือ ออกมาจากส่วนกลาง มาให้กรรมการประมงจังหวัดเป็นผู้กำหนดในแต่ละน่านน้ำ แต่พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างของคณะกรรมการประมงจังหวัดด้วย โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนชาวประมงเข้าไปในกรรมการประมงจังหวัด เปลี่ยนประธานจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแทน เป็นต้น
“หนึ่งในเรื่องที่เราเห็นว่าสำคัญมาก คือการดึงเอาอำนาจจากส่วนกลางมาให้ท้องถิ่นเป็นผู้กำหนด ที่ผ่านมาคนที่นั่งหัวโต๊ะกรรมการประมงจังหวัดเป็นผู้ว่าฯ ก็จะเอาแต่รับคำสั่งจากส่วนกลาง โดยไม่รับฟังเสียงจากพื้นที่ กลไกประมงจังหวัดถึงแก้ไขไปในทิศทางที่ชาวประมงต้องการไม่ได้ แต่ถ้าหัวโต๊ะเปลี่ยนเป็นนายก อบจ. นายกฯ จะดีหรือเลวอย่างน้อยก็มาจากการเลือกตั้ง ต้องฟังเสียงประชาชน สนองต่อความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น” นายธนาธรกล่าว
ธนาธรยังกล่าวต่อไป ว่าแม้ร่างแก้ไขกฎหมายประมงในขณะนี้ จะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่บ้าง แม้ในหมู่ชาวประมงด้วยกันเอง แต่ก็ต้องเป็นที่เข้าใจว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ทุกคนพอใจในทุกข้อได้ อย่างไรก็ตาม นี่คือเรื่องที่ผู้แทนกับชาวประมง จะต้องเข้าไปทำงานร่วมกันต่อในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ดังนั้น หากเข้าวาระต่อไปเมื่อไร ตนก็ต้องขอแรงชาวประมงทุกคนช่วยกันนำเสนอความคิดเห็น ปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายกันต่อไปด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews