Home
|
ข่าว

พปชร.ชี้ 3 สาเหตุ ทำค่าไฟฟ้าแพง พร้อมเสนอ 4 แนวทางแก้ไข

Featured Image
พปชร.ชี้ 3 สาเหตุ ทำค่าไฟฟ้าแพง พร้อมเสนอ 4 แนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน

 

 

วันนี้ (25 เม.ย.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมืองพรรค พร้อมด้วยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษากรรมการนโยบายพรรค และ ม.ล. กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ทีมนโยบายเศรษฐกิจของพรรค แถลงข่าวประเด็น “ปัญหาไฟฟ้าของประเทศไทย”

 

 

โดย มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวสรุปถึงที่มาและปัญหาค่าไฟฟ้าแพงว่า มาจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่

 

 

1) การสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น ไฟฟ้าสำรองสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไฟฟ้าสำรองปี 2557 ที่ประยุทธ์ปฏิวัติ 30% ปี 2565 หลังจากประยุทธ์เป็นนายกฯ มาแปดปี ขึ้นเป็น 70% รัฐทำสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแบบ Take or Pay คือ แม้ไม่ใช้ไฟประชาชนก็ต้องจ่าย เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย (AP)

 

 

2) โรงไฟฟ้าใหม่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง แต่ปัญหาด้านการจัดการแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณในอ่าวไทยของรัฐบาล ทำให้ปริมาณก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าลดลงกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้ต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงกว่าหลายเท่ามาทดแทน รวมถึงการกำหนดเงื่อนให้บริษัทผูกขาดท่อก๊าซกลางอ่าวไทยเป็นผู้ได้สิทธิ์รับซื้อก๊าซของชาติที่ปากหลุมผลิตแต่ผู้เดียวเพื่อบวกกำไรแล้วจึงขายให้ กฟผ ทั้งที่บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีชาวต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย ดังนั้น ควรจัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติเพื่อเป็นผู้ใช้สิทธิ์รับซื้อก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยแต่ผู้เดียวเพื่อขายก๊าซถูกให้ กฟผ

 

 

3) การปิดโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่ เพื่อเปิดทางให้โรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ LNG มีราคาแพงเข้ามาในระบบ หากเป็นเอกชนก็ต้องจ่ายค่า AP เป็นก้อนใหญ่ชดเชยให้ ทั้งที่บางแห่งผลิตไฟได้ถูกกว่า
จึงเป็นการเลือกซื้อไฟที่ต้นทุนแพงโดยไม่จำเป็น
กฟผ. เข้าไปรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่มีต้นทุนแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ยของ กฟผ. อย่างมาก ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น เพราะใกล้เลือกตั้งจึงไม่กล้าขึ้นค่าไฟจึงให้ กฟผ. แบกรับค่าไฟที่สูงขึ้นแทนประชาชนไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บจากประชาชนผ่านค่า ft ในภายหลัง ขณะนี้ กฟผ. มีหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดอยู่ในระดับ 150,000 ล้านบาท รัฐบาลประยุทธ์ควรจะสั่งให้ กฟผ. เลิกซื้อไฟที่ต้นทุนแพงจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลิง เปลี่ยนไปรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประชาชน

 

 

ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลงมาก ด้านนายธีระชัย กล่าวว่า อีกหนึ่งสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศแพง เนื่องจากปัจจุบันการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงของรัฐบาลไม่ได้แก้แบบบูรณาการ และยังเป็นการแก้ไม่ตรงจุด ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าของนายกฯ ประยุทธ์ในปัจจุบัน เป็นการแก้ไขแบบเอื้อต่อนายทุนมากกว่าการมองผลประโยชน์ของประชาชนอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดเป็นปัญหาสะสมอย่างต่อเนื่องกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ซึ่งตนจะขอชี้ให้เห็นปัญหาและความล้มเหลว ดังนี้

 

 

 

1.กำหนดราคาค่าไฟฟ้าให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือเกษตรกร เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า ดังนั้น การกำหนดเพดานราคาค่าไฟฟ้าให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือเกษตรกร ก็ย่อมจะต้องควักกระเป๋าออกมาจากฝ่ายรัฐเท่านั้น จึงเป็นนโยบายที่เน้นการปกป้องผลกำไรของนายทุนพลังงานเป็นหลัก

 

 

2.ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านสำหรับผลิตไฟฟ้า และขายเข้าระบบเพื่อสร้างรายได้ ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอย่างแท้จริง เพราะการติดตั้งบังคับให้ต้องขออนุญาตถึงสามหน่วยงาน มีการกำหนดปริมาณที่จะรับซื้อไฟฟ้าแบบนี้ไว้จำกัดมาก และรับซื้อในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย ต่ำกว่าราคาที่ครัวเรือนซื้อไฟฟ้าจากรัฐบาลมาก

 

 

ขณะที่นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า หากพรรคพลังประชารัฐได้เข้าไปเป็นรัฐบาล พรรคมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงแบบบูรณาการและตอบโจทย์ ซึ่งพรรคมองว่าแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องดำเนินการให้ครอบคลุม 4 แนวทาง เพื่อให้เป็นการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ได้แก่

 

 

1. ยุติปัญหาโรงไฟฟ้าล้นเกิน ไม่ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ทุกรายจนกว่าไฟฟ้าสำรองอยู่ในระดับ 15% และทำการตรวจสอบการประมูลที่ผ่านมาว่า มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่น การล๊อคสเปกในการประมูล เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน

 

 

2. ลดการใช้ LNG เพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า เร่งกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยโดยเฉพาะแหล่งบงกชและเอราวัณ ให้กลับมาเป็นปกติ จะช่วยลดการนำเข้า LNG ได้ 1000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ลดการนำเข้าก๊าซ LNG ได้ 70% เจรจาชอยืมก๊าซในแหล่งพัฒนาร่วมไทย มาเลเซีย ที่แบ่งกันคนละครึ่ง ให้ไทยเป็นผู้ใช้ก๊าซเป็นเวลา 1-2 ปี

 

 

ในช่วงปรับโครงสร้างพลังงานไทยทั้งระบบ ลดการนำเข้าก๊าซ LNG ได้ 20-30% ห้ามมิให้ กฟผ. รับซื้อไฟจากเอกชนในราคาสูงกว่าต้นทุนเฉลี่ยของ กฟผ. บวกอีก 10% โดยโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลิงโดยจะได้รับเพียงเงินค่าความพร้อมจ่ายเท่านั้น โดยให้ กฟผ ซื้อจากแหล่งที่มีราคาถูก เช่น โรงไฟฟ้าจากชุมชนและโซล่าร์ประชาชนที่มีราคาถูกกว่าแทน

 

 

จัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติที่รัฐถือหุ้น 100% ทำหน้าที่จัดการแหล่งก๊าซในอ่าวไทยที่จะทยอยหมดอายุสัมปทาน และต้องตกเป็นของรัฐ โดยให้องค์กรเป็นผู้ทรงสิทธิ์ซื้อก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยแต่ผู้เดียวและเป็นผู้จัดสรรสิทธิ์การใช้ก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทย โดยกำหนดราคาขายเป็นขั้นบันได ราคาต่ำสุดจะให้สิทธิ์แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการผลิตก๊าซหุงต้มสำหรับประชาชน ราคาบันไดขึ้นต่อไปหากมีก๊าซเหลือจึงจะให้สิทธิ์แก่ภาคธุรกิจทั้งปิโตรเคมี และการผลิตไฟฟ้าของเอกชน

 

 

3. เพิ่มไฟฟ้าภาคประชาชนเข้ามาในระบบแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG สนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอย่างแท้จริง โดยให้ครัวเรือนขายไฟฟ้าได้ในราคาเดียวกันกับราคาที่ซื้อไฟฟ้า ตามหลักของการหักลบลบหน่วย Net Metering ค่าไฟต่ำสุดเหลือ 0 บาท ให้ อบต. และเทศบาล ร่วมกับ กฟผ กฟภ หรือเอกชน ทำโซล่าฟาร์ม โดยผลกำไรส่วนหนึ่งเป็นของ อบต. และอีกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งจะนำมาเฉลี่ยให้กับครัวเรือนแต่ละหลังเพื่อหักออกจากค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ ช่วยลดผลกระทบจากค่าไฟที่สูงขึ้น
ให้กระทรวงการคลังประสานกับธนาคารของรัฐเพื่อให้เป็นผู้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ บนหลังคาบ้านและโครงการโซล่าร์ชุมชน

 

 

4. ยุติปัญหาค่า ft แพง การปรับลดค่า ft ให้นำหนี้สินของ กฟผ ที่จะเรียกเก็บผ่านค่า ft มาออกเป็นพันธบัตร “ไฟฟ้าประชารัฐ” อายุ 5-15 ปี จะทำให้ภาระหนี้สินที่ต้องเรียกจากประชาชนลดลงจาก 1.5 แสนล้านบาทเหลือปีละ 1.5 หมื่นล้าน โดยค่า ft ในส่วนหนี้สินนี้จะเหลือต่ำกว่า 10 สต โดยรักษาให้ ft รวมอยู่ในระดับ 25 สต.แต่มีเพดานไม่เกิน 50 สต.ในภาวะที่ราคาเชื้อเพลิงผันผวน ซึ่งลดลงจากเป้าหมายที่ กฟผ เสนอค่า ft ในเดือน พ.ค.66 ที่ 293.60 สต.โดยจะต้องทำพร้อมปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าข้างต้นเพื่อไม่ให้หนี้สินกลับมาเป็นภาระอีก

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube