Home
|
ข่าว

นายกฯ หนุนดัน 5F เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ

Featured Image
นายกฯ หนุนขับเคลื่อนโครงการ 5F ผลักดันผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยเป็นสินค้าส่งออกให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก สร้างโอกาสจาก Soft Power เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศเป็น 3.45 ล้านล้านบาท ในปี 2570

 

 

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนการดำเนินโครงการ 5F ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านการผลักดันตามโครงการ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) , ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ (Film) , การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) , ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ เทศกาลประเพณีไทย (Festival) เพื่อผลักดันให้เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ เชื่อมโยงวัฒนธรรมไทยสู่สากล สร้างโอกาสจาก Soft Power ที่มีศักยภาพเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

 

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม จาก 1.5 ล้านล้านบาท ในปี 2565 เป็น 3.45 ล้านล้านบาท ในปี 2570 หรือ 15% ของ GDP ผ่านการผลักดันโครงการ 5F ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือ DITP เปิดเผยว่าขณะนี้ได้สนับสนุนผู้ประกอบการผ่านแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าที่ต้องการส่งออก เน้นการปรับเปลี่ยนความคิดให้รับกับวัฒนธรรมและค่านิยมไทยมากขึ้นเพื่อให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล และจะประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อบูรณาการความร่วมมือ ผลักดัน Soft Power ของไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานHong Kong Film & TV Market 2023 หรือ Filmmart 2023

 

 

เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคอนเทนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย โดยมีนักลงทุน ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้ซื้อจากต่างชาติ สนใจเข้าร่วมเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทยจาก 21 บริษัท สร้างมูลค่าการเจรจาทางการค้าได้กว่า 1,300 ล้านบาท และการออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ส่งเสริมและพัฒนาดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ร่วมสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งในปีที่ผ่านมา การส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยมีมูลค่ารวม 349,034.57 ล้านบาท

 

 

นอกจากนี้ ยังมีสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เร่งขยายกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มค่านิยมสินค้าผ้าไทยในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เน้นใช้ช่องทางการตลาด e-Commerce อาทิ sacitshop.com, sacit Shop Application รวมไปถึงมีการขยายและเชื่อมโยงช่องทางการตลาดสินค้างานศิลปหัตถกรรมไทย กับแพลตฟอร์มต่างประเทศ คือ pinkoi.com แพลตฟอร์มที่รวบรวมผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดเอเชีย อาทิ ไทย จีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า และญี่ปุ่น

 

 

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังได้กำหนดการจัดทำ (ร่าง) แผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยจะศึกษาและจัดทำจุดยืนของประเทศในการขับเคลื่อน Soft Power (Thailand’ s Soft Power Positioning) เพื่อให้เกิดการจดจำในสายตาประชาคม และการศึกษาแนวโน้มและสภาพการณ์ตลาดของสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมไทยที่มีศักยภาพในการเป็น Soft Power ทั้งระดับประเทศและนานาชาติอีกด้วย

 

 

“นายกรัฐมนตรี สนับสนุนการขับเคลื่อน Soft Power อย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการต่างๆ เชื่อมั่นว่า เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของไทยมีศักยภาพในทุกแขนง สามารถนำมาต่อยอดเพิ่มคุณค่าต้นทุนที่มีทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าและบริการให้เป็นที่สนใจในตลาดโลก”

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube