กต.แจงลต.นอกราชอาณาจักรผู้ใช้สิทธิ์เกิน 80 %
กต.แจงความคืบหน้าเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ทยอยขนส่งบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว 17 แห่ง ผู้ใช้สิทธิ์เกิน 80 %
นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ปี 2566 ชี้คนไทยลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรใกล้เคียงกับยอดผู้ลงทะเบียนเมื่อปี 2562 พร้อมย้ำ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ (สอท./สกญ.) ได้กำหนดวิธีการและวันเวลาเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้สะดวกและเข้าถึงได้ง่ายที่สุด รวมทั้งถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่อปี 2562 เพื่อป้องกันปัญหาด้านการขนส่งบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรกลับประเทศไทยด้วยแล้ว
สำหรับการลงทะเบียนขอใช้สิทธิการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร สอท./สกญ. ได้เปิดลงทะเบียนให้คนไทยขอใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. – 9 เม.ย. 2566 โดยยอดลงทะเบียนของผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 115,139 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 119,313 ราย โดยประเทศที่มีคนไทยลงทะเบียนขอใช้สิทธิมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ออสเตรเลีย (19,830 ราย) 2.สหรัฐฯ (15,190 ราย) 3.สหราชอาณาจักร (7,495 ราย) 4.ญี่ปุ่น (7,414 ราย) และ 5.เยอรมนี (5,954 ราย)
ในส่วนของวิธีการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร สอท. / สกญ. ได้กำหนดวิธีการจัดการเลือกตั้ง (ซึ่งประกอบด้วยแบบคูหา ทางไปรษณีย์ และวิธีอื่น ๆ เช่น การจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่) ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ อาทิ การจัดการเลือกตั้งทาง ปณ. ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกประเทศ แต่เหมาะสำหรับประเทศที่มีระบบ ปณ. ที่มีประสิทธิภาพ ส่วนการกำหนดวัน/เวลาจัดการเลือกตั้ง สอท./สกญ. ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตของพี่น้องคนไทยในเขตอาณา เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิต วันที่ต้องทำงาน และเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้เข้าถึงได้ง่ายที่สุดด้วย
ล่าสุด ในช่วงสุดสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28- 30 เม.ย. 2566 มีการจัดคูหาเลือกตั้งในหลายประเทศ ทำให้มีการทยอยขนส่งบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วเข้ามาจำนวนมาก โดย สอท./สกญ. ที่ได้ส่งถุงเมล์เข้ามาแล้วมี 17แห่ง ได้แก่ 1.ลอสแอนเจลิส 2.สะหวันนะเขต 3.ซีอาน 4.กาฐมานฑุ 5.ปราก 6.วอชิงตัน 7.อาบูจา 8.คูเวต 9.การาจี 10.สิงคโปร์ 11.ปีนัง 12.โกตาบารู 13.โดฮา 14.ฮานอย 15.โฮจิมินห์ 16.มานามา 17.ไคโร (สถานะ ณ วันที่ 3 พ.ค. 2566) ซึ่งเกือบทุกแห่งมีผู้ใช้สิทธิมากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งฯ
เพื่อให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาการส่งบัตรเลือกตั้งกลับไทยและให้ทันการส่งไปที่หน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขต สำหรับการเลือกตั้งทาง ปณ. สอท./สกญ. ได้ประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ขอใช้สิทธิส่งคืนซองบัตรที่ลงคะแนนแล้วคืนให้แก่ สอท./สกญ. เพื่อให้ สอท./สกญ. บริหารจัดการในการคัดแยกและส่งซองบัตรเลือกตั้งกลับต่อไป
นอกจากนี้ สอท./สกญ. ทุกแห่งก็อนุโลมให้ผู้ขอใช้สิทธิทาง ปณ. สามารถนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วไปส่งคืนที่ สอท./สกญ. ด้วยตนเองได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันปัญหาความผิดพลาดจากปัจจัยบุคคล กระทรวงฯ ได้พัฒนาระบบ Overseas Voting Monitoring System (OVMS) เพื่อติดตามการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงขั้นตอนการขนส่งบัตรเลือกตั้งของ สอท./สกญ. ในรูปแบบ Checklist แบบ real-time และกำหนดแนวทางอย่างรัดกุม โดยให้ สอท./สกญ. บางแห่งใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่ถือถุงเมล์บัตรเลือกตั้งกลับมายังประเทศไทย หรือไปส่งถุงเมล์ที่ตัวแทนขนส่งในเมืองที่มีเที่ยวบินตรงด้วย
นางกาญจนา ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการเลือกตั้งแบบไปรษณีย์นั้น ปัญหาที่พบได้แก่ 1.ผู้ลงทะเบียนกรอกที่อยู่ไม่ชัดเจนหรือกรอกผิด ทำให้ซองเอกสาร ลต. ตีกลับ ซึ่ง เจ้าหน้าที่ สอท./สกญ. ได้ติดต่อผู้ขอใช้สิทธิเพื่อจัดส่งเอกสารให้อีกครั้ง จึงเกิดความล่าช้าบ้าง 2.ระบบไปรษณีย์ของประเทศนั้นๆ ล่าช้า ตลอดจนความเสี่ยงจากสหภาพแรงงานของไปรษณีย์หยุดงานประท้วงเนื่องจากอยู่ในช่วงวันแรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สอท./สกญ. อนุโลมโดยอำนวยความสะดวกให้กรณีที่ผู้ขอใช้สิทธิทางไปรษณีย์ที่ประสงค์จะนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วไปส่งคืนที่ สอท./สกญ. ด้วยตนเอง ก็สามารถกระทำได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews