กกต.ส่งบัตรลต.ไปยัง400หน่วยแล้ว-แจงขั้นตอนสอบ”พิธา”
กกต.ส่งบัตรเลือกตั้งไปยัง 400 หน่วยแล้ว บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย เตือนระวังเฟคนิวส์ ของบฯช่วยค่าไฟพิจารณา 15 พค. แจงขั้นตอนตรวจสอบหุ้สื่อ “พิธา”
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกต.ได้ส่งบัตรเลือกตั้งที่จะใชัในวันที่ 14 พ.ค.66 ถึง หน่วยเลือกตั้งทั้ง 400 เขตแล้ว โดยได้จัดส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศ และบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจาก 91 สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ที่ได้ทำการคัดแยกและตรวจสอบแล้วไปยังหน่วยเลือกตั้งทั้ง 400 เขตแล้วด้วย แต่ยังเหลือบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรอีก 3 แห่ง ที่กำลังจะส่งมา ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้, สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต สาธารณรัฐโมซัมบิก และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก
ทั้งนี้ ขอฝากถึงประชาชนให้ระมัดระวังถึงข่าวเท็จและข่าวบิดเบือน ซึ่ง กกต.พบเป็นร้อยข่าว ยกตัวอย่างข่าวส่งมอบบัตรเลือกตั้งที่มีการบิดเบือนว่า ไม่โปร่งใส ขอชี้แจงว่าเป็นการเซ็นกำกับเพื่อมอบบัตรตามระเบียบ ไม่ได้เปิดซองแต่อย่างใด ส่วนกรณีคือบัตรเขย่ง ซึ่งไม่เป็นความจริง
นายแสวง ยังกล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) การขออนุมัติงบประมาณ งบกลาง เพื่อช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับกลุ่มเปราะบาง ที่ประชุม กกต.พิจราณาแล้วเห็นว่า มีประเด็นข้อคำถามที่จะให้สำนักงบประมาณ และกระทรวงพลังงาน ชี้แจงข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมให้ครบถ้วนเกี่ยวกับเหตุผลการจำเป็นเร่งด่วน
การดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง และ พ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลังในการขอใช้งบกลาง โดยทราบข้อมูลจากผู้แทนกระทรวงพลังงานว่า หากมีการพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 15 พ.ค.66 ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความเร่งด่วนในการดำเนินการ ที่ประชุม กกต. จึงมีมติให้สำนักงบประมาณ และกระทรวงพลังงาน ชี้แจงข้อมูลตามความเห็นดังกล่าว ก่อนเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในภาคเช้าของวันที่ 15 พ.ค.66
ขณะเดียวกัน นายแสวง ยังกล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ว่า การดำเนินการของ
กกต.แบ่งได้เป็น 3 ช่วง ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ช่วงหลังวันเลือกตั้ง และช่วงประกาศผล โดยช่วงก่อนวันเลือกตั้ง เป็นไปตามมาตรา 61 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 หาก กกต.ตรวจสอบแล้วขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามจะยื่นต่อศาลฎีกา ซึ่งขณะนี้เหลือเวลา 2 วัน แต่หากดำเนินการไม่ทัน หลังการเลือกตั้งก่อนการประกาศผล หากผู้นั้นมีลักษณะต้องห้าม กกต.จะมีมติให้ดำเนินคดีอาญามาตรา 151 ฐานรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติแต่ยังลงสมัคร
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะไม่เป็นเหตุให้นำไปสู่การไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง ดังนั้น ก็ต้องประกาศให้เป็น ส.ส.ไปก่อน จากนั้นจะเป็นการดำเนินการหลังการประกาศผล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งกำหนดช่องทางในการดำเนินการไว้ ทั้งให้ ส.ส. ส.ว. เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต.เป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนเหตุใด กกต.ถึงไม่ยื่นให้ศาลฎีกาพิจารณาดำเนินการก่อนการเลือกตั้ง เพราะถ้ายื่นหลังการเลือกตั้งจะมีผลกระทบมากกว่า นายแสวง ชี้แจงว่า ทุกอย่างมีกระบวนการที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เมื่อมีเรื่องร้องเรียน กกต.จะรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหา ก่อนนำเสนอให้ กกต.พิจารณา
ซึ่งต้องใช้เวลา โดยหน่วยงานที่ กกต.ได้ขอความร่วมมือให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพิ่งส่งข้อมูลล่าสุดมาให้ พบมีผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ คนหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่ กกต.เห็นว่าจำเป็นต้องให้ความเป็นธรรม และได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติก่อน จึงให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าคำสั่งล้มละลายยังมีผลอยู่หรือไม่ และผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการต่อสู้อย่างไร จากนั้นกรรมการค่อยมาพิจารณายื่นต่อศาล ดังนั้น จึงต้องแยกเรื่องกระบวนการให้ความเป็นธรรม กับผลกระทบออกจากกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews