Home
|
ข่าว

“พริษฐ์” ก้าวไกลแนะ 3 กรอบรับมือปัญหาสุขภาพจิต

Featured Image
“พริษฐ์” แนะ 3 กรอบ ป้องกัน-คัดกรอง-รักษา รับมือปัญหาสุขภาพจิต ชี้ สังคมและรัฐต้องช่วยดูแล

 

 

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ลำดับที่ 11 ได้โพสต์ทวิตเตอร์เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนนโยบายก้าวไกลด้านสุขภาพจิต ที่งานปัจฉิมนิเทศ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ตนได้ให้กำลังใจกับนิสิตจบใหม่ทุกคนซึ่งเชื่อว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะในการร่วมกันแก้ปัญหาสุขภาพจิตที่กำลังท้าทายสังคมและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนไทยจำนวนมาก

 

 

นายพริษฐ์กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในไทยอาจสูงถึง 1.5 ล้านคน หรือโดยเฉลี่ยคนไทย 40 คน จะพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1 คน กรอบความคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการมองและปฏิบัติต่อปัญหาสุขภาพจิตเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพกาย

 

 

ปัจจุบันสังคมบางส่วนยังมองและปฏิบัติกับสองอย่างแตกต่างกัน อย่างเช่นการมองว่าอาการซึมเศร้า เกิดจากการคิดไปเองของผู้ป่วย หรือ การตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการพบแพทย์ ในขณะที่หากเป็นอาการป่วยทางกาย (เช่น ขาหรือแขนหัก) คงไม่มีใครคิดหรือตั้งคำถามเช่นนั้น เพราะเหตุนี้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตหลายคน จึงอาจรู้สึกกังวลและไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้มีสถิติออกมาว่า ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 100 คน มีแค่ 28 คนเท่านั้นที่เข้าถึงการรักษา

 

 

แนวทางนโยบายด้านสุขภาพจิตของพรรคก้าวไกลมี 3 กรอบหลัก ๆ นั่นคือ

1. ป้องกัน: สร้างสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี แม้การประสบปัญหาสุขภาพจิตอาจเกิดจากบางปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ แต่การได้อาศัยในสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดี มีส่วนสำคัญเช่นกันต่อการลดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพจิต เช่น การมีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งสำหรับเด็กเล็ก พ่อแม่มือใหม่ได้รับการเสริมทักษะและการเตรียมความพร้อมทางสภาพจิตใจสำหรับการเลี้ยงดูลูก ระบบการศึกษาที่ไม่สร้างแรงกดดันเกินเหตุสำหรับนักเรียน และปราศจากอำนาจนิยมในโรงเรียน ภาพแวดล้อมและรูปแบบความสัมพันธ์ในชีวิตการทำงานที่เหมาะสม

 

2. คัดกรอง: สนับสนุนให้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตโดยไม่รู้ตัว ได้รับความช่วยเหลือ กำหนดใก้การตรวจสุขภาพประจำปี ต้องมีการตรวจสุขภาพจิตด้วย เพิ่มทักษะขั้นพื้นฐานให้ประชาชนเป็นแนวหน้าสุขภาพจิต ช่วยกันประเมินความเสี่ยงของคนรอบข้าง

 

 

3. รักษา: เพิ่มช่องทางการรักษา-ฟื้นฟูคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิต ทบทวนบัญชียาหลักในระบบให้เท่าทันกับวิทยาการทางแพทย์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบบริการสุขภาพจิตรูปแบบใหม่ (เช่น การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) แพลตฟอร์มสุขภาพจิต) จัดตั้ง “คลินิกเยาวชน” เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการดูแลปัญหาด้านสุขภาพจิตให้เยาวชนโดยไม่จำเป็นต้องรายงานกับผู้ปกครองหรือโรงเรียน (ที่บางครั้งเป็นสาเหตุของปัญหา) และทำหน้าที่คัดกรองเบื้องต้นก่อนส่งต่อ

 

 

ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่ความเจ็บป่วยที่ใครต้องเจ็บปวดเพียงลำพัง แต่รัฐและสังคมต้องเข้ามาช่วยดูแลเพื่อรักษาใจไปด้วยกัน

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube