กมธ.พัฒนาการเมือง ส.ว.ชี้ ข้อรัฐบาลแห่งชาติ ไม่ได้มีเจตนาร้าย เกิดได้ เมื่อรัฐสภาร่วมมือกัน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ มีการพิจารณาในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า เป็นข้อเสนอที่เกิดจากความเป็นห่วง ในการแก้ไขวิกฤตปัญหาของเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีที่ปรากฏเป็นข่าว รวมทั้งแนวโน้มนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งอาจถูกต่างชาติเข้ามาแทรกแซง จะส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจในการบริหารงบประมาณแผ่นดินในกระทรวงการคลังนอกจากนี้
ยังมีการเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อาจกระทบกับหมวดหนึ่ง และหมวดสอง เกี่ยวกับความมั่นคงและสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีข้อเสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้น ถือเป็นการมองการไกลของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอ โดยมีความเป็นห่วงว่าบ้านเมืองจะแตกแยกและไม่สามัคคี ซึ่งคณะกรรมาธิการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าว ไม่ได้มีเจตนาร้าย เป็นความหวังดีที่จะเห็นถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง ระบุด้วยว่า โอกาสที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติขึ้นได้หรือไม่นั้น ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา มีการเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ และเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเป็นเรื่องนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเรื่องเหล่านี้ไว้ชัดเจนโดยตรง คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นว่า โอกาสที่จะเกิดความปรองดองได้อยู่ในมาตรา272 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ คือ เรื่องของกระบวนการการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
โดยโอกาสที่จะตั้งนายกรัฐมนตรีอยู่ในมาตรา 272 แต่หากในกระบวนการนี้ ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในมาตรา 272 วรรคสอง ได้เสนอทางออกไว้ว่า ให้สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง สามารถที่จะยกเลิกกระบวนการปกติที่รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ได้ ซึ่งการจะยกเลิกดังกล่าว ต้องใช้เสียงในรัฐสภาถึง 2 ใน 3 เท่ากับว่า จะต้องเห็นด้วยอย่างน้อย 500 คน ซึ่งในจำนวนนี้ในถือว่าเป็นไปได้ยาก
เพราะจำนวนเสียง ส.ว. 250 คน ก็อาจจะไม่เต็มจำนวน และต้องอาศัยเสียงจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมากคือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งมองว่าหากทั้งสองพรรคไม่เห็นด้วยก็เกิดขึ้นไม่ได้
อย่างไรก็ตาม นายเสรี มองว่า แต่หากพรรคใดพรรคหนึ่งเห็นด้วย โอกาสก็จะได้เสียงถึง 500 ซึ่งสามารถที่จะร่วมกันในการเลือกนายกคนนอกที่อาจอยู่ในบัญชี หรือยกเว้นกระบวนการที่ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 วรรคหนึ่งได้ ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐสภาร่วมมือกัน ซึ่งถือเป็นทิศทางที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในการร่วมมือร่วมใจเห็นพ้องต้องกันให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยมองว่ากระบวนการตามรัฐธรรมนูญนี้ไม่ต่างจากรัฐบาลแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องทำงานและบริหารประเทศไปด้วยกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews