“บิ๊กป้อม” ถกกอนช.วางแผนรับมือฝนทิ้งช่วงจากเอลนีโญ
“บิ๊กป้อม” ห่วงประชาชน ถก กอนช. วางแผนรับมือฝนทิ้งช่วง จากเอลนีโญ ให้ ประชาชนมีน้ำพอใช้ตลอดปี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดและประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม
พล.อ.ประวิตร เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามความก้าวหน้าการเตรียมรับมือสถานการณ์ “เอลนีโญ” ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่มิถุนายนนี้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นและหลายจังหวัดอาจประสบปัญหาภัยแล้ง กระทบต่อปริมาณน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงน้ำเพื่อการเกษตร
โดยในปีนี้คาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5 และมีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ดังนั้น ที่ประชุมได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและฝนทิ้งช่วงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำที่ กอนช. ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้า ทั้งด้านการเกษตรและด้านอุปโภคบริโภคเพื่อผลิตน้ำประปา เพื่อชี้เป้าพื้นที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนป้องกันและช่วยเหลือประชาชนคู่ขนานไปกับการสร้างการรับรู้ให้กับเครือข่ายภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ยังต้องดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 อย่างเคร่งครัด เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่จะมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยด้วยเช่นกัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – พฤศจิกายนนี้ อาทิ เร่งรัดซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ ระบบระบายนน้ำ สถานีสูบน้ำ หรือเครื่องจักรเครื่องมือ ให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก สำหรับหน่วยงานที่ยังไม่ได้รับงบประมาณ ขอให้จัดทำแผนปฏิบัติการสำรองการบริหารจัดการน้ำหลาก และให้กรมชลประทาน ประชาสัมพันธ์แผนการส่งน้ำ จัดรอบเวรการส่งน้ำ ตามปริมาณน้ำที่ได้รับการจัดสรร เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้
พร้อมทั้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดติดตามความก้าวหน้าผลการพิจารณาการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายจากการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองโดยเร็ว กรณีหากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำหลากภายใต้เงื่อนไขที่เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ส่วนพื้นที่ที่อาจจะต้องปลูกพืชเร็วกว่ากำหนดในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ลุ่มต่ำ
ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุน ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประทานพิจารณาใช้น้ำฝนเป็นหลัก ควบคุมพื้นที่การเพาะปลูกให้เป็นไปตามแผน และให้กรมชลประทานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการใช้น้ำ ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเตรียมแผนขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง และใช้รองรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ต่อไป
ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด นอกจากการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องเน้นย้ำ คือ การเก็บกักน้ำในทุกแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุดและบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว สทนช. ได้หารือร่วมกับกรมชลประทานในการวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ผ่านเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ
ภาคเกษตรอย่างประณีต โดยวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรรวมถึงการเตรียมแปลง การปรับรอบการส่งน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปริมาณน้ำฝน และพิจารณาตามหลักการ 1 รอบการเพาะปลูก หากมีรอบการเพาะปลูกที่ 2 – 3 ต้องมีมาตรการลดการใช้น้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้ได้ถึงฤดูแล้งปี 2567/68 นอกจากนี้ สทนช. จะประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการฤดูแล้งที่ผ่านมา
ซึ่งในภาพรวมค่อนข้างจะเป็นไปตามแผนและเกิดผลกระทบไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นจำต้องครอบคลุมปิดจุดอ่อนต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชนให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยจะมีการนำปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้งภายใต้ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/66 ไปใช้ในการปรับปรุงมาตรการ รวมทั้งกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปีถัดไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews