“พริษฐ์”ชู 4 เป้าหมาย เอาชนะการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านระบบที่ไม่มีใคร อยากโกง-กล้าโกง-โกงได้-โกงแล้วรอด
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลและผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกลโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับ นโยบายเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านระบบที่ไม่มีใคร “อยากโกง” “กล้าโกง” “โกงได้” หรือ “โกงแล้วรอด” โดยนายพริษฐ์ระบุว่า ผมและพรรคก้าวไกลได้เข้าไปพบปะพูดคุยกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) เพื่อหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
นายพริษฐ์กล่าวว่าปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่เรื้อรังและรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองภายนอก ที่วัดโดยคะแนน (36 จาก 100) และลำดับ (101 จาก 180) ของประเทศไทยในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ มุมมองภายใน ที่วัดจากเรื่องการทุจริตใกล้ตัวที่ประชาชนสัมผัสได้ตั้งแต่เกิดจนแก่ จะเข้าโรงเรียนดีๆ ก็ต้องจ่ายสินบน เงินแป๊ะเจี๊ยะ จะขายของหาบเร่แผงลอยก็ต้องจ่ายส่วย จะเปิดร้านอาหารก็ต้องขอใบอนุญาตหลายสิบใบ มีค่าน้ำร้อนน้ำชาให้เจ้าหน้าที่ จะเปิดโรงงานต้องขอใบอนุญาตนับร้อยนับพันใบ จะสร้างหมู่บ้านสร้างคอนโดก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้กับค่ารังวัดที่ดิน ค่าเชื่อมท่อน้ำทิ้ง ค่าปักเสาไฟฟ้า จะได้รับการดูแลจากรัฐตอนสูงวัยก็ต้องถูกแย่งชิงงบที่รั่วไหลไปหาคนทุจริตในอำนาจ
พรรคก้าวไกลเราเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ต้องไม่ใช่การหวังพึ่งแค่การปลูกฝังจิตสำนึก-จริยธรรมในการต่อต้านการโกง แต่ต้องเป็นการทำให้รัฐโปร่งใสกว่าที่เคยเป็น ทุกคนตรวจสอบทุกคนได้ด้วยอาวุธใหม่ๆ ที่ประเทศไม่เคยมี เพื่อสร้าง “ระบบที่ดี” ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ในมุมมองของผม “ระบบที่ดี” ในการแก้ปัญหาการทุจริต มี 4 เป้าหมาย ที่ประกอบไปด้วยนโยบายของพรรคก้าวไกลดังต่อไปนี้
1. ระบบที่ไม่มีใคร “อยากโกง”
1A. อำนวยความสะดวกประชาชน เพื่อลดกระบวนการที่ซับซ้อนและล่าช้าซึ่งเป็นบ่อเกิดของการทุจริต
– ยกเลิกใบอนุญาต 50% และยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค (Regulatory Guillotine)
– รู้ผลใบอนุญาตใน 15 วัน (หากพิจารณาไม่ทันกรอบเวลา ให้ถือว่าอนุญาตโดยอัตโนมัติ)
2. ระบบที่ไม่มีใคร “กล้าโกง”
2A. สร้างรัฐที่เปิดเผน (Open Government)
– Open Data: เปิดข้อมูลรัฐ โดยยึดเกณฑ์ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”
– Open Parliament: เพิ่มความโปร่งใสของรัฐสภา (เช่น ถ่ายทอดสดประชุมกรรมาธิการ)
2B. รัฐบาลทำตัวเป็นแบบอย่าง (Role-model Government)
– ห้ามใช้เงินหลวง โปรโมทตัวเอง
– Zero Tolerance กับการทจุริตโดยคนในคณะรัฐมนตรีหรือคนในพรรค
3. ระบบที่ไม่มีใคร “โกงได้”
3A. ตัด “คนกลาง” หรือการใช้ “ดุลพินิจ” ที่เปิดช่องทางการทุจริต
– ทุกบริการภาครัฐ ทำได้ผ่านมือถือ (99%)
– ร้องเรียนไป ต้องไม่เงียบ อัปเดตทุกขั้นตอน (มีช่องทาง ‘กลาง’ ติดตามสถานะเรื่อง)
4. ระบบที่ไม่มีใคร “โกงแล้วรอด”
4A. ยกระดับกลไกตรวจสอบ
– ระบบ AI จับโกง (แจ้งเตือนการทุจริตแบบอัตโนมัติ)
– ตัวแทนจับโกงหรือผู้สังเกตการณ์อิสระ ในโครงการมูลค่าสูง (Integrity Pact)
– ป.ป.ช. ที่ผ่านกระบวนการสรรหาที่ยึดโยงประชาชน หลากหลาย และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
– ปฏิรูปตำรวจ เติบโต-โยกย้ายเป็นธรรม ปราศจากตั๋ว-เส้นสาย ตำรวจมีแรงจูงใจในการทำงานสุจริต
4B. สร้างสังคมต้านโกง
– โครงการ “คนโกงวงแตก” (leniency programme) – จูงใจให้คนที่คิดจะโกงระแวงกันเอง คุ้มครองคนที่ออกมาแฉก่อน
– โครงการ “แฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน” (whistleblower protection) – คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เปิดโปงการทุจริต เพิ่มรางวัลให้กับประชาชนที่ชี้เบาะแส
หากเราแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาการทุจริต และผลักดันนโยบายของเราเรื่องการเปิดเผยข้อมูลรัฐ และการนำเทคโนโลยีมาช่วยจับโกง ให้เห็นผลได้ภายใน 100 วันแรกตามที่เราตั้งไว้ ผมและพรรคก้าวไกลเชื่อว่าต้นปีหน้า มีแนวโน้มที่คะแนนและลำดับของประเทศไทยในในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน CPI จะสูงขึ้นกว่าเดิม และประชาชนจะยิ่งเชื่อมั่นศรัทธาในระบบการเมืองการปกครองตามครรลองประชาธิปไตย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews