ไทยย้ำเจตนารมณ์ร่วมประชาคมโลกรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 13 มิ.ย. 66 ได้รับทราบผลการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยเข้าประชุมร่วมกับรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงจากประเทศภาคีอนุสัญญาฯ 139 ประเทศ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมระดับสูงได้แสดงความกังวลต่อความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา โดยเลขาธิการ สผ. ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยร่วมกับประชาคมโลกในการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ซึ่งไทยได้ดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
โดยเน้นย้ำการส่งเสริม BCG Model โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งทวิภาคีและพหุภาคี การสนับสุนกลไกทางการเงิน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและเสริมสร้างสมรรถนะเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียความหลาหลายทางชีวภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน ค.ศ.2030 ซึ่งส่งผลให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายใน ค.ศ.2050
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ได้มีการหารือในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านนโยบาย ได้มีการรับรอง (ร่าง) กรอบงานความหลากหลายชีวิตภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเปลี่ยนชื่อเป็นกรอบงานคุณหมิง-มอนทรีออล และกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่จะให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายในปี ค.ศ. 2050 และหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี ค.ศ.2030
ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของอนุสัญญาฯ ภาคีอนุสัญญาฯ ได้พิจารณาแนวทางที่จะจัดตั้งกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนใหม่และขอให้ภาคีจัดทำแผนการเงินระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อกระตุ้นรัฐบาล สถาบันการเงิน ธนาคาร และธุระกิจให้การสนับสนุนดำเนินงานมากขึ้น ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการนั้นได้มีการหารือถึงความหลาหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง สุขภาพ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ถูกรุกราน (Invasive Alien Species: IAS) สิ่งมีชีวิตดันแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organisms: LMOs) เป็นต้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews