“ไอติม” แจงทำไมต้องแก้รธ.ยกเลิกมาตรา 272
“ไอติม-พริษฐ์” แจงเหตุผล ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ทางออกที่หวังว่าทุกฝ่ายยอมรับได้
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ถึงเหตุผลว่า ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 คืนอำนาจเลือกนายกให้ประชาชน ทางออกที่หวังว่าทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยระบุว่า เพื่อหาทางออกในการคืนความปกติให้การเมืองไทย เราตัดสินใจยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 เพื่อ #คืนอำนาจเลือกนายกให้ประชาชน
โดยการยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ และทำให้อำนาจในการเลือกนายกฯ เป็นไปตามเสียงของผู้แทนราษฎร 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน อันจะเป็นการทำให้กระบวนการเลือกนายกฯและการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย
เราทราบดีว่าเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรา 272 (เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา + 1/3 ของ สว + 20% ของกลุ่มที่รัฐธรรมนูญพยายามนิยามว่าคือ “ส.ส. ฝ่ายค้าน) เป็นเกณฑ์ที่ท้าทาย แต่หากพิจารณาหลักการและข้อเท็จจริงจากทั้งคำพูดและการลงมติของสมาชิกรัฐสภาที่ผ่านมา ผมหวังว่าการยกเลิกมาตรา 272 จะเป็นทางออก ที่ตรงตามหลักการประชาธิปไตย และเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย
สำหรับพี่น้องประชาชนทุกคน การยกเลิกมาตรา 272 จะทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลมี “ความชอบธรรม” ทางประชาธิปไตย เพราะจะเป็นการทำให้เสียงของทุกคนมีความหมาย ทำให้การเลือกนายกฯเป็นไปตามเสียงของผู้แทนราษฎรที่ท่านเลือกเข้าไป และทำให้เรามีรัฐบาลที่ชอบธรรมตามมติมหาชน
การยกเลิก 272 จะยิ่งสะท้อนให้เห็นชัด ว่านี่คือการต่อสู้ร่วมกันไม่ใช่แค่ของประชาชน 14 ล้านคนที่เลือกพรรคก้าวไกล หรือประชาชน 27 ล้านเสียง ที่เลือก 8 พรรคที่สนับสนุนคณพิธา แต่คือการต่อสู้ของคนไทยทั้งประเทศ เพื่อยืนยันหลักการว่าเสียงของประชาชนต้องเป็นเสียงที่กำหนดอนาคตของประเทศ
สำหรับผู้แทนราษฎรในซีก 8 พรรคที่สนับสนุนคุณพิธา การยกเลิกมาตรา 272 จะทำให้เรามี “สมรภูมิใหม่” ที่เราเดินคู่ขนานกับการโหวตนายกฯ ในการผลักดันเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลตาม MOU เพราะแม้เรายังไม่บรรลุเป้าหมายในสมรภูมิของการโหวตนายกฯ แต่หากเรายกเลิกมาตรา 272 สำเร็จ การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคจะมีความชัดเจนและเป็นที่แน่นอนทันที
การยกเลิกมาตรา 272 มีกรอบเวลาที่แน่นอนและถูกกำกับโดยรัฐธรรมนธญและข้อบังคับประชุมรัฐสภา โดยหากพิจารณาได้เร็ว (เนื่องจากเป็นเพียงการยกเลิก 1 มาตรา ของรัฐธรรมนูญ) มีความเป็นไปได้ที่รัฐสภาจะพิจารณา 3 วาระเสร็จภายใน 3 สัปดาห์
สำหรับผู้แทนราษฎรในซีก 10 พรรคที่ไม่สนับสนุนพิธา การยกเลิกมาตรา 272 เป็นข้อเสนอที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองเป็นการเฉพาะ แต่เป็นข้อเสนอที่ยืนยันหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ว่าอำนาจในการเลือกนายกฯควรเป็นของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักการที่หลายพรรคในซีก 10 พรรค ได้เคยเสนอหรือเห็นชอบในชุดสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่แล้ว
หากย้อนไปดูการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาเมื่อ มิ.ย. 2564 มีการเสนอร่างยกเลิก 272 โดย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วย 100% (ไม่นับประธานสภา) / ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วย 98% / ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเห็นด้วย 86% ( elect.in.th/convote-24jun2… )
สำหรับสมาชิกวุฒิสภา การยกเลิกมาตรา 272 เป็นหลักการที่สมาชิกวุฒิสภา 63 คนเคยลงมติเห็นชอบมาก่อนแล้ว (อย่างน้อย 1 ครั้ง) เมื่อถูกเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
การยกเลิกมาตรา 272 จะเป็นทางออกให้กับสมาชิกวุฒิสภาหลายคนที่ได้แสดงความเห็นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ว่าตนเองไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงอีกหลายคนที่อาจใช้เหตุผลนี้ในการตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ส.ว. 159 คนที่ “งดออกเสียง” หรือ 43 คนที่ตัดสินใจไม่เข้าที่ประชุมเพื่อมาลงมติในการเลือกนายกฯ
การยกเลิกมาตรา 272 จะเป็น “บันดีหนีไฟ” ให้กับสมาชิกวุฒิสภา ที่ (ในมุมหนึ่ง) มีความลังเลใจในการให้ความเห็นชอบกับคุณพิธาด้วยความเคลือบแคลงใจและคำถามที่ตนเองมีต่อพรรคก้าวไกล แต่ (ในอีกมุมหนึ่ง) ก็มีความประสงค์ลึกๆที่ไม่อยากจะสวนมติมหาชนจากผลการเลือกตั้ง เพราะการเลือก “ปิดสวิตช์” ตนเองอย่างแท้จริงโดยการคืนอำนาจเลือกนายกฯให้ประชาชน จะเป็นวิธีการที่ทำให้สมาชิกวุฒิสภากลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องลงมติให้คุณพิธาหรือพรรคก้าวไกล และไม่จำเป็นต้องสวนมติมหาชน
เราหวังว่าข้อเสนอในการยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อคืนอำนาจเลือกนายกให้ประชาชน จะเป็นทางออกที่ประชาชนทุกคนและสมาชิกรัฐสภาทุกฝ่ายพร้อมสนับสนุน เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่อยู่เหนือความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองของพวกเราทุกคน คือจุดมุ่งหมายที่เรามีร่วมกันในการทำให้อำนาจสูงสุดในการเลือกนายกฯของประเทศนี้เป็นของประชาชน และในการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สมาชิกรัฐสภาทุกคนอภิปรายไว้ว่าท่านหวงแหน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews