Home
|
ข่าว

“โภคิน” ส.ว.โหวตนายกฯแค่ 5 ปีเท่านั้นช่วงรักษาการทำไม่ได้

Featured Image
“โภคิน” ชี้จำเป็นต้องแก้ รธน.60 เพราะเป็นต้นตอปัญหาของความขัดแย้ง ขณะมอง ส.ว.โหวตนายกฯได้แค่ 5 ปีเท่านั้น ช่วงรักษาการไม่สามารถทำได้

 

 

นายโภคิน พลกุล ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ถึงแนวทางการเดินหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ตั้งแต่ก่อนตั้งพรรคไทยสร้างไทยแล้ว มองว่า ประเด็นปัญหาใหญ่ของประเทศคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะถูกออกแบบมาไม่ให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง หรือชนะแล้ว ก็บริหารประเทศไม่ได้ เพราะกลไกต่างๆ ถูกวางไว้โดยผู้สืบทอดอำนาจทั้งหมด

 

แม้แต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็แทบจะทำไม่ได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ที่ คสช.แต่งตั้ง 84 คน ก็ตกตั้งแต่วาระแรกแล้ว และหากผ่านวาระแรก ในวาระ 3 ก็ต้องเห็นชอบอีก รวมถึง ต้องมีฝ่ายค้าน 20% เห็นชอบด้วย ซึ่งยากมาก ดังนั้นหากประเทศไม่รีบแก้ไข จะไม่สามารถแก้ความขัดแย้ง ที่พัฒนาไปเรื่อยๆไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายก็จะติดกับดักเหล่านี้ทั้งหมด ที่หาเสียงกันมาก็จะไม่สามารถทำได้ จึงเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มาจาก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ 200 คน เอากับดักออกไปก่อน แล้วค่อยมาสู้กันในกติกาที่เป็นธรรม

 

 

“ยกตัวอย่างง่ายๆ 20 ปีก่อน บ้านเมืองตีกันแค่เหลืองกับแดง มองว่าแดง คุณทักษิณ คือปีศาจต้องขจัด แต่ต่อไปนี้ไม่ใช่แค่เหลือกับแดง แต่เป็นสงครามระหว่างเจเนเรชั่นละ เราไม่อยากรับอะไรเจเนเรชั่นใหม่ที่ไปสุดโต่ง ก็ไปดึงโน้นดึงนี่มา บางเรื่องก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง สร้างความหวาดกลัวให้อนุรักษ์นิยมทั้งหลาย

 

 

อันนี้น่ากลัวน้อยกว่า ก็จับมือกับน้อยกว่า ไปล่อน่ากลัวมากกว่า ภายใต้กติกาเดิม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ความขัดแย้งก็จะต่อเนื่องยิ่งฝังรากลึก แทนที่เราจะมาขจัดสิ่งนี้ออกไปก่อน แล้วจากนั้นเรามาสู้กันในกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เสียงของประชาชนก็จะมีความหมาย” นายโภคินกล่าว

 

 

พร้อมกันนี้ นายโภคิน ยังกล่าสถึง กรณีมีการถกเถียงกันเรื่องการโหวนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.ว่าเมื่อหมดวาระแล้ว ยังรักษาการต่อจะสามารถโหวตได้หรือไม่ว่า อำนาจตามบทเฉพาะกาลมีแค่ 5 ปีเท่านั้น อำนาจโหวตนายกฯจะหมดไปทันที รักษาการได้ แต่ไม่สามารถโหวตนายกฯได้ การโหวตจะทำเฉพาะสภาผู้แทนราษฏรเท่านั้น ใครเกินกึ่งหนึ่งก็ชนะไป

 

 

ส่วนเรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติรัฐสภา ห้ามเสนอชื่อซ้ำ ตามข้อบังคับ 41 ว่า กรณีเสนอชื่อตัวบุคคล มันกำหนดในรัฐธรรมนูญ และความเห็นส่วนตัวมองว่า การยกมือเสนอชื่อต่อที่ประชุม ไม่ถือเป็นญัตติ แต่หากเป็นการเสนอนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ข้อบังคับเขียนไว้ให้สมาชิกเกินกึ่งหนึ่งของสภา เข้าชื่อ เสนอเป็นญัตติ แต่กรณีเสนอ 1 ใน 3 คน นั้น ไม่ได้เขียนไว้ในข้อบังคับ

 

 

แต่เมื่อมีการใช้ ม.213 ในการยื่นเพื่อตีความนั้นต้องให้ประชาชนไปร้อง ซึ่งเมื่อร้องแล้ว ผู้ตรวจฯจะรับ ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับพิจารณาหรือไม่ ต้องมีกฏหมายวิธีพิจารณาอีก และเมื่อ ส.ส.ไปร้องก็สงสัยว่าอาจจะไม่รับพิจารณา เพราะส.ส.เป็นผู้ใช้อำนาจอยู่ไปร้องว่าหน่วยงานของตนใช้อำนาจไม่ถูกต้อง จะทำได้หรือไม่

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube