“ภูมิธรรม” ชี้หลายกลุ่มสนใจเข้าร่วมแก้รธน. คาดใช้เวลาไม่นาน
“ภูมิธรรม” ย้ำให้ความสำคัญกับประชาชน ช่วยลดค่าครองชีพ 15วันเห็นรายการสินค้าลดราคา
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ภายหลังการประชุมมอบนโยบายกระทรวงพาณิชย์ ว่า มีนโยบายสำคัญ 7 เรื่องที่ต้องเร่งดูแล
คือการลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้ขยายโอกาส ให้กับประชาชน การบริหารจัดการให้เกิดความสมดุล ระหว่างผู้บริโภค เกษตรกรและผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ต้องทำงานเชิงรุกและบูรณาการร่วมกัน
แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมาย ร่วมขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล wallet ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งขยับตัวเลขส่งออกให้ติดลบน้อยลง ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้มากขึ้น
โดยราคาสินค้านั้น ภายใน 15 วันจะมีรายการสินค้าที่จะสามารถลดราคาได้จากต้นทุนการผลิตที่ลดลงทั้งในส่วนของราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า โดยหลังจากนี้ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน
ไปถอดรายละเอียดในส่วนของต้นทุนการผลิตสินค้าแต่ละรายการที่จะสามารถปรับราคาลดลงได้ ยืนยันว่าหลังจากนี้จะเห็นผลในการดูแลประชาชนมากขึ้น เวลานี้ได้ทยอยเรียกผู้ประกอบการมาหารือเพื่อพิจารณาในเรื่องของต้นทุน
สำหรับนโยบายในการดูแลสินค้าเกษตรนั้นรับรองว่าจะไม่มีการรับจำนำอย่างแน่นอน ในขณะที่การประกันรายได้ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง หากจำเป็นจะเลือกใช้เป็นมาตรการสุดท้าย แต่การดูแลเวลานี้จะใช้กลไกตลาดทำงาน และใช้มาตรการเสริมที่มีอยู่ในการดูดซับผลผลิตทางการเกษตรก่อน
สำหรับการแบ่งงานระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้น ขอไปหารือเป็นการภายในอีกครั้ง ซึ่งจะดูตามความถนัดเป็นสำคัญ
“ภูมิธรรม”ระบุหลายกลุ่มสนใจเข้าร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ คาดใช้เวลาไม่นานทุกอย่างจะมีความชัดเจนมากขึ้น
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ ได้พิจารณาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดและขณะนี้มีบุคคลและหลายกลุ่มเสนอตัวที่จะเข้ามาร่วมที่จะเข้ามาช่วยกันดูและแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้มีความคิดเห็นที่แตกต่างและขัดแย้งกันในบางเรื่องบางประเด็น แต่ไม่อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญติดขัดเหมือนกับที่เคยเกิดปัญหามาในช่วงตลอด 4 ปี ที่พยายามเสนอแก้ไขและก็ไม่ผ่านการพิจารณา
ทั้งนี้ จะต้องทำประชามติหรือไม่ ต้องไปหารือกันก่อน แต่จะเร่งกระบวนการต่างๆ ให้เร็วที่สุด โเยเฉพาะเรื่องของการใช้งบประมาณที่จะทำประชามติ จะต้องใช้เงินงบประมาณมากน้อยแค่ไหน แต่ยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หลายครั้งมีความเห็นที่ต่างกันจนถึงขั้นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าอำนาจหน้าที่ อยู่ตรงไหน ทำได้อย่างไร และจะทำแบบไหน แม้กระทั่งการเข้าสู่กระบวนการการทำประชามติในครั้งที่แล้วก็มีการเสนอ ที่แตกต่าง บางพรรคเสนอให้ทำประชามติถึงสี่รอบ บางพรรคทำสองรอบ ดังนั้นจะต้องไปดู ไม่ให้ขัดกฏหมาย และต้องไปดูว่าจะทำได้ภายใต้งบประมาณที่ไม่เกินไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews