เครือข่ายแรงงาน เรียกร้อง “พิพัฒน์” ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
เครือข่ายแรงงาน เรียกร้อง “พิพัฒน์” ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ไปที่ 450 บาท พร้อมเร่งจัดเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันสังคม
ที่กระทรวงแรงงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข พร้อมด้วย นางสาวธนพร วิจันทร์, นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน และภาคีเครือข่ายเพื่อขอเรียกร้องให้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำและเร่งจัดเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางประกันสังคมอื่นๆ
นางสาวธนพร กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่เมื่อเทียบกับนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องการจะปรับค่าแรง 600 บาทต่อวัน ดังนั้นเราจึงเสนอว่า ควรปรับค่าแรงไปที่ 450 บาท เพื่อให้ตัวเลขของค่าแรงสามารถไต่บันไดไปสู่ค่าแรง 600 บาทในปี 2570 ได้
นางสาวธนพร กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงมีการปรับค่าแรง 300 บาทต่อวัน เท่ากันทั้งประเทศ มันเกิดอำนาจในการซื้อของแรงงานมากขึ้น และกลไกเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ โดยในปัจจุบันราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาพลังงานนั้นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นค่าจ้าง 450 บาทก็ควรจะเท่ากันทั้งประเทศ
ส่วนที่ผู้ประกอบการอาจจะมีความกังวลเพราะต้องรับภาระที่มากขึ้น มองว่า ในเมื่อรัฐบาลออกนโยบายมาแล้ว นั่นคือการวางแผนจะดูแลทั้งภาคธุรกิจ และลูกจ้างอย่างเป็นธรรม แม้ว่ารัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงานจะเร่งรัดให้เกิดการเลือกตั้งอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัด เพื่อใช้กลไกของไตรภาคี แต่การใช้กลไกภาคีนั้นต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลว่า แรงงานควรจะได้ค่าแรงขั้นต่ำในตัวเลขที่เพิ่มขึ้น และชัดเจนกับพี่น้องแรงงานว่าแต่ละปีจะขึ้นกี่บาท
ส่วนเรื่องสวัสดิการที่ต้องการเรียกร้องได้แก่ เรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งกลับเข้ามา และรัฐบาลยืนยันว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่เงินบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทแก่คนชราก็ยังคงเป็นปัญหา ดังนั้นรัฐควรจะเข้ามาดูแลตรงนี้
นางสาวธนพร ยังเน้นย้ำถึงบอร์ดประกันสังคมซึ่งเป็นบอร์ดที่ตั้งขึ้นมาด้วย ม.44 จากอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำรัฐประหารในปี 2557 เป็นผลทำให้ต้องยุบบอร์ดที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นบอร์ดประกันสังคมที่ดูแลเรื่องกองทุนประกันสังคมเป็นบอร์ดใหญ่ที่รวมถึงสิทธิประโยชน์ของแรงงาน และบอร์ดที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
จึงชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมว่ากระทรวงแรงงานออกระเบียบล้นเกินกฎหมาย โดยระบุว่า ผู้ประกันตน หรือผู้ใช้แรงงานที่จะลงสมัครบอร์ดดังกล่าว ต้องส่งเงินสมทบกองทุน 36 เดือน หรือ 3 ปี ซึ่งระเบียบนั้นไม่สอดคล้องกับช่วงที่ผ่านมาคือ เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ทำให้แรงงานไม่สามารถส่งเงินสมทบได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถูกจ้างออก หรือตกงาน
ยังไม่รวมถึงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่มีแรงงานข้ามชาติอยู่ล้านกว่าคน แต่ระเบียบกระทรวงแรงงานกลับตัดสิทธิ์ผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ ทั้งที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ จึงมองว่า พี่น้องแรงงานข้ามชาติก็เป็นผู้ประกันตนเขาจึงมีสิทธิเลือกผู้แทนไปดูแลเรื่องสวัสดิการสังคมของเขา
สำหรับข้อเรียกร้องที่กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเรียกร้องนั้น ได้แก่ การเพิ่มค่าแรง 450 บาท และเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ได้แก่ ปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาล เพิ่มหมอ ขยายกลุ่มยาแผนปัจจุบัน, เพิ่มค่าทำฟัน 1,500 ค่าคลอดบุตร 20,000 บาท, เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร 1,200 บาทตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 15 ปี, ทดแทนรายได้ว่างงาน ร้อยละ 80 ของค่าจ้าง กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา ทดแทนการขาดรายได้ อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง และบำนาญชราภาพ 50%, เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในเดือนธันวาคม 2566 และผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews