Home
|
ข่าว

“จุรินทร์” เตรียมดัน “พ.ร.บ. ทุเรียนไทยยั่งยืน”

Featured Image
“จุรินทร์-ชวน-บัญญัติ” รับเรื่องเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ลั่น!เตรียมดัน “พ.ร.บ. ทุเรียนไทยยั่งยืน”

 

 

ที่อาคารรัฐสภา นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ ประธานเครือข่ายผลักดันทุเรียนภาคประชาชน พร้อมด้วย คณะกรรมการเครือข่าย นายสันต์ รื่นรมย์ นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ที่ปรึกษาเครือข่าย พร้อมด้วยเกษตรกรชาวสวนทุเรียนอำเภอแกลง อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง มายื่นหนังสือต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

 

 

นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ให้ช่วยผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษา การส่งเสริม พัฒนา แก้ไขปัญหาทุเรียนทั้งระบบ และยกร่างกฎหมายว่าด้วยทุเรียน

 

 

ด้วยปัจจุบันประเทศไทยส่งออกทุเรียนนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ.2565 มูลค่าส่งออก 125,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จัดเป็นพืชเกษตรที่ส่งออกทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับสาม รองจากยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอื่น ๆ รวม 43 จังหวัด ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ.2566 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 1,340,000 ไร่

 

 

มีทั้งที่ปลูกโดยเกษตรกรรายย่อย และที่ปลูกโดยนักลงทุนเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียน ทำให้ต้องใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้าเพื่อการเกษตร แรงงานภาคเกษตร การขนส่งผลผลิตทุเรียน อุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ในปริมาณที่สูงขึ้น หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจร ถ้าผลผลิตทุเรียนล้นตลาด และคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ราคาอาจจะตกต่ำ หากใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง อาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

 

 

ปัจจุบันภาครัฐมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียน จึงมักใช้การขอความร่วมมือ การออกระเบียบหรือคำสั่งในระดับจังหวัด โดยอิงมาตรฐานทางวิชาการ ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนระดับพระราชบัญญัติมาบังคับใช้เฉพาะ ต้องอาศัยกฎหมายทั่วไป เช่นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาตรา 47 ทำให้มีข้อจำกัดในการลงโทษผู้นำเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด หากมีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนเป็นการเฉพาะ จะทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากภาครัฐไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนโดยเฉพาะมาบังคับใช้เพื่อการส่งเสริม

 

 

การพัฒนา การแก้ปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืน ทั้งระบบ ครบวงจรแล้ว ปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีเจ้าภาพหลักเรื่องทุเรียน มีผู้รับผิดชอบอยู่หลายกรม หลายกระทรวง ขาดการบูรณาการกัน จึงขาดเอกภาพ ภาครัฐสมควรหยิบยกเรื่องทุเรียนเป็นวาระแห่งชาติ ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้ประเทศเป็นอันดับต้นๆ และประเทศไทยมีจุดแข็งหลายอย่าง เหนือประเทศคู่แข่ง

 

 

แต่ก็วางใจไม่ได้ ถ้าปล่อยให้เกษตรกรปลูกตามยถากรรม โดยที่ภาครัฐไม่เข้ามาบริหารจัดการอย่างจริงจัง อนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายทุเรียน เมื่อเทียบกับพืชเกษตรอื่น เช่นยางพารา ปัจจุบันจึงยังไม่มีกองทุนทุเรียนไทย ที่หักเงินจากการส่งออกทุเรียนเข้ากองทุน ขณะที่ยางพารา มีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเมื่อประสบปัญหา

 

 

กรณีต้นทุเรียนหมดอายุต้องปลูกทดแทน หรือกรณีได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ จะไม่มีเงินกองทุนมาช่วยเหลือ เช่นกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ที่มีกฎหมายเก็บเงินสงเคราะห์ยาง (Cess) หากมีกองทุนทุเรียนไทย ก็จะสามารถช่วยเหลือชาวสวนทุเรียน และมีเงินทุนมาศึกษาวิจัย พัฒนา เกี่ยวกับทุเรียนได้

 

 

นอกจากนั้น ภาครัฐควรมีการจัดระเบียบพื้นที่ปลูก หรือ”โซนนิ่ง” การใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม เพื่อภาครัฐ จะได้ลงทุนจัดหาแหล่งน้ำ ระบบชลประทาน และจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็น สนับสนุนแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต และควรขึ้นทะเบียนผู้ปลูกทุเรียน และกำหนดมาตรฐานการใช้สารเคมี ทั้งปุยและยาปราบศัตรูพืช นอกจากนั้นควรขึ้นทะเบียนผู้ตัดทุเรียน ผู้ค้าทุเรียน ผู้รวบรวมผลผลิตทุเรียน และผู้ส่งออกทุเรียน เพื่อควบคุมคุณภาพ ไม่ให้มีการตัดทุเรียนอ่อน ไมให้มีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ทั้งสารเคมี และชีวภาพ หากควบคุมคุณภาพได้ทุกขั้นตอน จะสามารถป้องกันราคาทุเรียนตกต่ำได้ หากควบคุมคุณภาพไม่ได้ขั้นตอน จะกระทบให้ราคาทุเรียนตกต่ำเป็นโดมิโน

 

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนยินดีที่จะช่วยส่งเสริม สนับสนุนทุเรียนไทยซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์และสอดคล้องกับสิ่งที่ตนทำมาตลอด 4 ปี ในช่วงที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำให้ทุเรียนกลายเป็นผลไม้สำคัญที่ทำรายได้ให้กับประเทศมหาศาลก่อนพ้นตำแหน่ง ปีที่แล้วเราทำเงินจากการส่งออกทุเรียน ได้ 125,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ก่อนพ้นตำแหน่ง 8 เดือนมกราคมถึงสิงหาคม ปรากฏว่าปีที่แล้วทั้งปี จาก 125,000 ล้านบาท เป็น 138,000 ล้านบาท ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 8 เดือน ซึ่งทุเรียนถือเป็นพืชที่มีอนาคต และตลาดใหญ่สุดคือตลาดจีน 95%

 

 

ซึ่งที่ผ่านมามีอุปสรรคมากแต่ตนก็ไปคลี่คลายด่านต่างๆจนกระทั่งปัจจุบันนี้ การส่งออกทุเรียนไปจีนถือว่าคล่องตัวขึ้นมาก เพราะฉะนั้นตนยินดีที่จะส่งเสริมสนับสนุน และจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมสส.ของพรรคประชาธิปัตย์ในสัปดาห์หน้า ระหว่างที่สภาอาจจะยังไม่สามารถพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาได้ ก็จะส่งเรื่องให้กรรมาธิการสามัญการพาณิชย์ซึ่งประชาธิปัตย์เป็นประธานอยู่ จะได้พิจารณาดำเนินการไปพลางๆก่อน และเป้าหมายสำคัญนั้นคือประชาธิปัตย์พร้อมสนับสนุนพระราชบัญญัติทุเรียนยั่งยืนให้เกิดขึ้นเพื่อที่จะเข้ามากำกับดูแลทุเรียนให้ครบวงจร

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube