Home
|
ข่าว

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม High-Level Forum

Featured Image
นายกฯเศรษฐา กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม High-Level Forum เสนอ 4 แนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านสีเขียว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเงินสีเขียว และความร่วมมือพหุภาคี

 

วันนี้ (18 ตุลาคม 2566) เวลา 16.17 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชม.) ณ ศูนย์การประชุม China National Convention Center (CNCC) กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม High-Level Forum ภายใต้หัวข้อ “Green Silk Road for Harmony with Nature”

 

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมความสำเร็จในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) พร้อมเน้นย้ำแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อมโยง (Connectivity) เป็นกลไกสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การประชุม BRF ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

 

 

โดยเฉพาะในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ไปจนถึงการถดถอยทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งล้วนเกิดจากการเสื่อมถอยของความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

 

นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อน BRI ไปสู่ “ความร่วมมือสายแถบและเส้นทางคุณภาพสูง” (“High-Quality Belt and Road Cooperation”) เพื่อ “การพัฒนาและความรุ่งเรือง” (“Common Development and Prosperity”) โดยไทยมุ่งมั่นที่จะนำบทเรียนจากโครงการนี้ไปเป็นแนวปฏิบัติภายในประเทศ

 

 

ซึ่งนายกรัฐมนตรีเพิ่งให้คณะรัฐมนตรีวางแนวทางการศึกษาและแผนการดำเนินงานโครงการ Land Bridge เชื่อมโยงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียเข้ากับอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่อันดามันทางตอนใต้ ลดระยะเวลาในการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ภายใต้แนวคิด “One Port, Two Sides” ในระยะทางทางบก 90 กิโลเมตรทางภาคใต้ของไทย โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่าโครงการนี้จะทำงานร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานของ BRI และมีส่วนช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงในระดับโลก

 

 

ไทยมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีระหว่างประเทศมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2559 โดยไทยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน ซึ่งได้ส่งเสริมความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก นอกจากนี้ ในการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี 2565

 

 

ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมาย 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy) นำมาใช้เป็นกรอบการทำงานที่ครอบคลุมกรอบแรกของเอเปคในการผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบพลิกโฉมและทะเยอทะยาน ประการที่สอง การเปิดตัวรางวัล APEC BCG Awards ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากจีน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และความรู้สึกไม่แบ่งแยก

 

นายกรัฐมนตรี เสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เส้นทางสายไหมสีเขียวเพื่อความกลมกลืนกับธรรมชาติ” 4 ประการ ได้แก่

 

ประการแรก การเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) ในทุกภาคส่วน เพื่อจำกัดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยไทยกำลังดำเนินการตามยุทธศาสตร์ระยะยาวพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และได้ปรับแผนพลังงานแห่งชาติ เปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030

 

 

รวมทั้ง ใช้แนวคิดเรื่องพืชไร่ที่ยั่งยืนลดความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่น จะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

 

 

 

ประการที่สอง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ครอบคลุมร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมด และเป้าหมาย 30 x 30 เพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 ตามที่ไทยได้ให้คำมั่นไว้ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (COP CBD) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ยั่งยืน จะมีส่วนสำคัญในการบรรลุเส้นทางสายไหมทางทะเลสีเขียว

 

ประการที่สาม การส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance Mechanism) เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ซึ่งขณะนี้ไทยสามารถระดมเงินได้ถึง 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เป็นทุนสนับสนุนโครงการด้านความยั่งยืน และในเร็ว ๆ นี้ ไทยจะวางแผนออกพันธบัตรที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน (Sustainability Linked Bonds) อีกชุด กระตุ้นการเติบโตของตลาดพันธบัตรสีเขียว ตลอดจนสนับสนุนให้ภาคเอกชนและ MSMEs ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ประการสุดท้าย การส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี สร้างโอกาสในการทำงานร่วมกัน ร่วมมือ แบ่งปันความรู้ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อสวัสดิการของประชาชน ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำการทำงานร่วมกันภายใต้ BRI และสร้างความร่วมมือ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube