“ชนินทร์” ห่วงเสถียรภาพคลังประเทศโดนลดความน่าเชื่อถือ
“ชนินทร์” โพสต์เฟสบุ๊ก ห่วงเสถียรภาพคลังประเทศโดนลดความน่าเชื่อถือ แนะถ้าจำเป็นต้องทำ ต้องแจกให้ถูกคน หนุนใช้แอปเป๋าตังของเดิม
นายชนินทร์ รุ่งแสง ผู้ช่วยเลขาธิการและ กรรมการบริหาร พรรคประชาธิปัตย์อดีต ประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เป็นห่วงลูกหนี้เสี่ยงแบกภาระดอกเบี้ยสูงขึ้น หลังโลกจับตาแจก ดิจิทัลวอลเล็ต หากเสถียรภาพคลังแย่โดนลดความน่าเชื่อถือแน่ พร้อมแนะถ้าจำเป็นต้องทำ แจกให้ถูกคน หนุนใช้แอปเป๋าตังของเดิม ไม่ต้องเสียเงินทำระบบใหม่ให้สิ้นเปลืองแถมเสี่ยงทุจริต วัดใจนายกฯ จะเดินหน้าหรือถอยเพื่อชาติ
ซึ่งโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มูลค่า 5.6 แสนล้านบาทล่าสุดมีข่าวว่าการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายนี้ไปต่อไม่ได้ เพราะมีหลายหน่วยงานราชการมีความเห็นในที่ประชุมไม่สอดคล้องกับนโยบาย ซึ่งมีการแสดงออกในที่ประชุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายคนกลัวมีความผิดในอนาคต
ถ้าหากโครงการมีการตรวจสอบและฟ้องร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือหน่วยงานองค์กรตรวจสอบอื่น รัฐบาลควรนำความเห็นจากหน่วยงานในที่ประชุมไปพิจารณาหรือเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย เพื่อความรอบคอบจากทุกๆคนที่ติดตาม จะได้มีข้อมูลความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
ที่สำคัญขณะนี้ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี66 ลงเหลือ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 3.4% และได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยในปี 2567 ลงสู่ระดับ 3.2% จากระดับ 3.6% โดยระบุถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ อีกทั้งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch และ Moody’s มีสมมติฐานว่าภาครัฐจะคงสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี ได้ในระยะถัดไป
แต่ระบุชัดเจนว่าหากเสถียรภาพทางการคลังแย่ลงจากที่ประเมินไว้มาก ก็จะเป็นสาเหตุให้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ลงได้ นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทำรายงานออกมาว่าเรามีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ทำให้ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจกลุ่มที่เปราะบางที่ลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลที่เพิ่มสูงขึ้นได้
ประกอบกับหน่วยงานต่างๆ นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าตัวคูณทางการคลังของโครงการแจกเงินดิจิตอลนี้อยู่ที่ราว 0.3-0.9 สะท้อนการใช้เงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ และจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว ดังนั้น ไทยจึงมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะโดนลดระดับความน่าเชื่อถือ หากมีการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตแล้วไม่ได้ผลมากตามรัฐบาลประเมินไว้ หากโดนลดเกรดจริงๆ อาจทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศและภาคเอกชนสูงขึ้น นักลงทุนสูญเสียความมั่นใจ ส่งผลให้การลงทุนในประเทศลดลงทั้งในเศรษฐกิจจริงและตลาดทุน
ตนเองรู้สึกเป็นห่วงลูกหนี้ภาคครัวเรือนซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่ามีมูลหนี้ประมาณ 16 ล้านล้าน ซึ่งคนเป็นหนี้คือหนึ่งส่วนสามของประชากรประเทศ หรือ25 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่คือรากหญ้าหาเข้ากินค่ำ จะมีความเสี่ยงแบกรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นจากความล้มเหลว และผลกระทบของนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะมีข้อมูลวิจัยของนักวิชาการออกมาทักท้วงแล้วว่าเงินจะหมุนในระบบเศรษฐกิจไม่ถึง 1 รอบ
ซึ่งวิเคราะห์แล้วว่าลูกหนี้รายย่อยรากหญ้ามีโอกาสแบกภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอนาคต จากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถ้าในทางการเมืองจำเป็นต้องทำโครงการ แนะนำว่าต้องแจกให้ถูกคน กำหนดการใช้จ่ายให้ชัดเจนกระจายถึงตรงต่อเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ ที่สำคัญไม่ต้องใช้งบประมาณลงทุนทำบล็อกเชนหรือแพลตฟอร์มใหม่ เพราะไม่จำเป็น และเป็นความสิ้นเปลือง
อีกทั้งอาจจะเสี่ยงกับการทุจริตในการจัดจ้างจัดซื้อได้ ควรใช้แพลตฟอร์มเก่า เช่น เป๋าตังของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่แล้วทำให้สมบูรณ์และเหมาะสมกับโครงการได้ การเหวี่ยงแหแจก เสี่ยงที่เงินจะไม่หมุนเวียน เพราะคนมีฐานะดีก็จะไม่ใช้จ่ายทันทีหรือนำเงินแจกไปใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็นตรงกำกับวัตถุประสงค์โครงการ
การที่รัฐบาลยืนยันเดินหน้าทำนโยบายนี้ต่อนั้น ไม่ผิด เพราะรักษาคำพูดต่อประชาชน เป็นนักการเมืองที่ดีมีอุดมการณ์ แต่อย่าละทิ้งสิ่งสำคัญที่สุด คือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนที่ยั่งยืน ก็ขอให้นายกฯลองเลือกเดินได้ ระหว่างจะถอยเพื่อชาติ หรือเดินหน้ารักษาคำพูดเพื่อตัวเองและพรรคเพื่อไทย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews