Home
|
ข่าว

“ศิริกัญญา” ชี้เงินดิจิทัล 1 หมื่น อาจถึงทางตัน

Featured Image
“ศิริกัญญา” ชี้เงินดิจิทัล 1 หมื่น อาจถึงทางตัน รัฐบาลเจอตอปัญหางบประมาณ แนะทบทวน บอกความจริงที่มาของเงิน เชื่อประชาชนเข้าใจ ลั่นหากแจกผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ ก็แค่เยียวยา ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ เตือนออก พรก.กู้ เท่ากับฆ่าตัวตาย

 

 

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่จะมีการคัดกรองบุคคลที่จะได้รับว่า ปัญหาสำคัญที่มีการปรับหลักเกณฑ์โดยที่มีการคัดกรองคนรวยออก ไม่ว่าจะบุคคลที่ได้รับเงินเดือน 25,000 บาท หรือบุคคลที่ได้รับเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และอีกหลักเกณฑ์ที่จะแจกเฉพาะผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลน่าจะมีปัญหาการเงินที่จะนำมาใช้กับโครงการ เลยจำเป็นที่จะต้องทำให้คนที่ได้รับผลประโยชน์มีจำนวนลดลง ถึงแม้จะพยายามลดลงแล้ว

 

 

แต่ก็ยังมีคนได้รับเงินตรงนี้อยู่ประมาณ 43-49 ล้านคนอีก ถ้าเป็น 43 ล้านคนใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 67 ไม่พอในปีเดียว เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อยและมีข้อเสนอออกมาอีกว่าจะใช้เป็นงบผูกพันปีละ 100,000 ล้านบาท ไป 4 ปี ก็ยิ่งชัดเจนว่า หลังจากที่ได้คำนวณมาแล้ว แสดงว่างบประมาณปี 67 มีที่ว่างให้ทำโครงการดิจิตอลวอลเลต เพียงแค่ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น และในกรณีที่จำเป็นจะต้องผูกพันไปจนถึง 4 ปี ก็เท่ากับว่าจะมีร้านค้าบางส่วนไม่ได้เงินสดทันที และต้องรอแลกเป็นรายรอบปีงบประมาณไป

 

 

ซึ่งส่วนนี้จะกระทบกับร้านค้าที่อาจจะไม่มีแรงจูงใจมากพอ ที่ต้องการเงินสดมาหมุนเวียนในร้านค้าของตนเอง จนไม่เข้าร่วมโครงการ จึงเป็นการตอกย้ำว่าโครงการดิจิทัลวอลเลต มาถึงทางตันแล้ว ไม่สามารถที่จะให้ธนาคารของรัฐ หรือธนาคารออมสินดำเนินโครงการนี้ออกไปก่อนได้

 

 

เพราะติดข้อจำกัดหลักที่เป็นตอใหญ่ นั่นคือเรื่องของงบประมาณและที่มาของเงินที่จะต้องใช้ แต่การปรับเงื่อนไขในครั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่ายังคงทำตาม วัตถุประสงค์ดั้งเดิมและผลที่คาดว่าจะได้รับดั้งเดิมของโครงการนี้หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนไปหมดแล้วก็อาจจะต้องมีการทบทวนนโยบายใหม่ทั้งหมดด้วยซ้ำ

 

 

สำหรับการคัดกรองคนที่มีเงินเดือน 25,000 บาทและ ผู้ที่มีเงินฝากนั้นความจริงแล้วลดจำนวนลงไปได้นิดเดียวเพียงแค่ 13ล้านคน ถ้าเป็นคนที่มีเงินเดือน เกิน 50,000 บาท ก็ลดไปได้เพียงแค่ 7 ล้านคน ดังนั้นความจริงแล้วไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ในแง่ของการที่จะประหยัดงบประมาณลง ซึ่งนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงว่าจะทำอย่างไรกันต่อ

 

 

แต่สุดท้ายแล้ว กลับไปที่ทางเลือกที่ 3 ทางเลือกที่ให้เฉพาะคนที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เขียนไว้ชัดเจนว่าอาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป อาจจะเป็นแค่การประคับประคองเยียวยาค่าครองชีพ ให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยหรือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูดไว้ ก็จำเป็นที่จะต้องทบทวนจนเข้าใจดีว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่เพื่อไทยได้หาเสียงไว้ แต่ถ้าสามารถที่จะบอกกับ ประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าติดปัญหาในเรื่องอะไรงบประมาณ มีไม่พออย่างไรตนคิดว่าประชาชนน่าจะเข้าใจได้ ว่ารัฐบาลได้ พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะทำโครงการนี้ แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่นั่นก็คืองบประมาณ

 

 

ส่วนโครงการนี้อาจจะถูกยกเลิกไปหรือไม่ ให้เรียกว่าเปลี่ยนวิธีการมากกว่าอย่าเรียกว่ายกเลิก เข้าใจดีว่า สัญญาทางใจที่มีไว้กับโหวตเตอร์หรือผู้สนับสนุนสำคัญ แต่เพื่อ ให้ได้ผลลัพธ์เดียวกันเรามีวิธีการที่จะไปได้หลายทาง

 

 

ส่วนสุดท้ายจะจบแค่เป็นโครงการเยียวยาหรือไม่ ก็ต้องรอดูว่าจะกลายเป็นรูปแบบนั้นหรือไม่ ต้องบอกว่าตอนนี้ งบประมาณที่ไปทบทวนกันของแต่ละหน่วยงานรัฐเขา ทำกันเสร็จแล้วและเริ่มทยอยส่งกลับมายังสำนักงบประมาณแล้ว ดังนั้น สำนักงบประมาณมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วว่าจะสามารถตัด ลด เกลี่ย งบประมาณ ของปี 67 ได้เท่าไหร่ แล้วปรากฏว่า ก็ได้แค่แสนล้าน

 

 

ดังนั้น ถ้าจะไม่ทำงบประมาณผูกพันข้ามปีทางออกเดียว คือให้เฉพาะคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนั้น ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไป เพียงแค่เยียวยาค่าครองชีพ จึงต้องบอกกับรัฐบาลว่าต้องมาทบทวนวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ อย่างจริงจังอย่ายึดติดที่รูปแบบ ให้ดูที่เป้าหมายมากกว่าว่าผลลัพธ์เราอยากจะได้อะไร แล้วออกแบบนโยบายให้เป็นไปตามนั้นมากกว่า

 

 

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ของดิจิทัลวอลเลต มีมติออกมาก่อนที่มีข่าวออกมาเป็นเพียงความคิดเห็นของอนุกรรมการเท่านั้น เราก็ยังคงใจดีให้เวลารัฐบาลกลับไปคิดทบทวนลงรายละเอียดทุกอย่าง แล้วให้คณะกรรมการชุดใหญ่มีข้อเสนอ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเข้ามา เราก็จะได้ทำการตรวจสอบกันต่อไปซึ่งหลายคณะกรรมาธิการ ตั้งท่ารอที่จะเรียกเข้าไปพูดคุยในรายละเอียดอยู่ กระทู้สดยังรออยู่แม้จะเป็นในช่วงปีสมัยประชุม แต่เปิดมาเมื่อไหร่ก็คงจะได้พูดคุยกันเรื่องนี้แน่นอน พร้อมฝากให้สื่อสอบถามประชาชน รวมถึงร้านค้าว่าหาก จะต้องทยอยจ่าย เป็นหลายปีงบประมาณเงินสดจะไม่ได้ทันที ร้านค้า แต่ยังคงเข้าร่วมโครงการหรือไม่

 

 

ส่วนที่มีการหารือกับธนาคารกรุงไทยไม่ใช่ธนาคารออมสินนั้น ส่วนตัวมองว่า เป็นไปไม่ได้ใหญ่เลย น่าจะหารือกับธนาคารกรุงไทยเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นมากกว่า เพราะกรุงไทย มีประสบการณ์ในการทำเป๋าตังค์มา อาจจะเป็นธนาคารกรุงไทยที่จะดำเนินการทำแอพพลิเคชั่นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการหารือกับออมสินก็เป็นไปไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมาย ซึ่งไม่มีข้อไหนที่จะทำให้ดำเนินการแจกเงินได้เลยแม้แต่ข้อเดียว ถ้ายังคงใช้ออมสินอยู่ก็จะต้องมาแก้ไขกฎหมายและต้องผ่านสภา

 

 

ส่วนทางออกสุดท้ายของรัฐบาลอาจจะต้องใช้พ.ร.ก.เพื่อดำเนินโครงการนี้นั้น น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า ในทางเทคนิคทางออกสุดท้ายคือการ ออกพ.ร.ก.เงินกู้ เหมือนกับช่วงโควิดที่ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเป็นทางออกทางเทคนิคที่ง่ายที่สุด แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าพ.ร.ก.จะออกได้จะต้องมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่ก็ต้องถามสำนักบริหารหนี้ว่าจะยอมกู้ให้หรือไม่

 

 

ในกรณีที่ไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนและเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และในทางการเมือง ก็ต้องยอมรับว่าการจะออกพ.ร.ก. เงินกู้ณเวลานี้ ที่ไม่ได้ เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหนักขนาดนั้น ต้องเจอแรงต้านมหาศาลแน่นอน ตนก็ขอเตือนไว้ว่าถ้าออกเป็นพ.ร.ก. เงินกู้เมื่อไหร่ อาจจะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube