Home
|
ข่าว

“ก้าวไกล”จับตานโยบายแรงงาน

Featured Image
พรรคก้าวไกล จับตานโยบายแรงงาน ชี้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 ส่อแววไม่เกิดภายในสิ้นปีนี้ ทวงสัญญา 600 บาทภายในปี 2570 จะทำได้หรือไม่ ฝากสภาเร่งพิจารณา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานที่ก้าวไกลเสนอ ปรับนิยามลูกจ้าง-นายจ้าง ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน

 

 

 

 

นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลในส่วนของกระทรวงแรงงานหลายด้าน รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570 ว่า ในคำแถลงนโยบายกระทรวงแรงงาน โดย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ภายใต้หลักคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” รมว.แรงงาน ไม่มีการกล่าวถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงแรงงานมีมติปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 54 สาขาอาชีพ จากทั้งหมด 129 สาขาอาชีพ โดยจะมีผลภายใน 90 วัน หลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

 

 

 

 

โดยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ข่าวว่า จะมีการประชุมเพื่อขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ 400 บาททั่วประเทศ เพราะฐานของค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ซึ่งการให้ข่าวสองครั้งไม่เหมือนกันเช่นนี้ ชัดเจนว่าเป็นการยอมรับของ รมว.แรงงานเองว่า ภายในสิ้นปีนี้ จะยังไม่เห็นค่าแรง 400 บาทแน่ ๆ และคำถามที่ตามมาคือจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีถึงจะได้ค่าแรง 600 บาทตามที่รับปากไว้

 

 

 

 

 

“อย่าลืมว่านโยบายหลักนโยบายหนึ่งตอนที่หาเสียงคือค่าแรง 600 บาทภายในปี 2570 แต่การแถลงนโยบายที่ผ่านมาของนายกรัฐมนตรีและ รมว.แรงงาน ตนยังไม่เห็นแววเลยว่า จะไปสู่ค่าแรง 600 บาทได้อย่างไร แล้วที่บอกว่าให้รอข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อที่จะมีการประชุมไตรภาคีในเดือนหน้า ซึ่งก็เป็นเดือนสิ้นปีแล้ว สรุป 400 บาทในปีนี้จะไม่ได้แล้วใช่หรือ

 

 

 

 

ขณะเดียวกัน ทางพรรคก้าวไกลมีคำถามถึง นายพิพัฒน์ คือ 1) สรุปว่าจะมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำใหม่หรือไม่ 2) หากรัฐบาลประกาศว่าค่าแรงจะอิงตามมาตรฐานฝีมือ จะถือว่าเป็นค่าแรงขั้นต่ำได้หรือไม่ 3) ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 จะทำตามนั้นหรือไม่อย่างไร และ 4) คณะกรรมการไตรภาคีจะพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำเริ่มต้น 400 บาทหรือไม่และจะพิจารณาเมื่อไร?

 

 

 

 

 

ทั้งนี้แม้พรรคก้าวไกลจะเห็นด้วยที่ต้องมีการพิจารณาคุ้มครองแรงงานอิสระ แต่พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ ฉบับนี้ เพราะตามร่างฯ ดังกล่าว ผู้ประกอบอาชีพอิสระต้องลงทะเบียนก่อน ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ อีกทั้งนายจ้างตามร่างฯ นี้ ยังนิยามไว้เพียงในส่วนของธุรกิจแพลตฟอร์มเท่านั้น โดยไม่ได้มีสถานการเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมาย ทำให้สถานะและความรับผิดชอบของนายจ้างยังต่างจากนายจ้างทั่วไปหรือแทบจะไม่มีเลย

 

 

 

 

 

นายสหัสวัต กล่าวว่า ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอว่าควรมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และ ร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นเข้าสภาไปแล้ว โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่มีข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมที่จะพัฒนาสวัสดิภาพแรงงานและแก้ปัญหาข้างต้น โดยหวังว่าจะได้เสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล ผ่านกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วต่อไป สาระสำคัญของร่างฯ นี้คือ

 

 

1) เพิ่มวันหยุดจาก 1 วันต่อสัปดาห์เป็น 2 วันต่อสัปดาห์
2) เพิ่มวันลาพักร้อนเป็น 10 วัน
3) เพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน
4) ในสถานที่ทำงานต้องมีห้องให้นมบุตร และ
5) แก้ไขนิยามของลูกจ้างและนายจ้างเพื่อให้สอดคล้องและครอบคลุมกับแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้าราชการ และแรงงานรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

 

 

 

ขณะนโยบายระยะ 6 เดือนถึง 1 ปี ในการพัฒนาศักยภาพแรงงานชั้นสูงเพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนายสหัสวัตระบุว่า ในพื้นที่อีอีซีที่ตนเป็นผู้แทนอยู่ด้วยนั้น ในความเป็นจริงมีประเด็นที่ควรพิจารณามากกว่าเรื่องของค่าแรง นั่นคือปัญหาสภาพการจ้างงานในปัจจุบัน ที่มีการเพิ่มสัดส่วนการจ้างงานแบบเหมาช่วง (Sub-contract) เป็นจำนวนมาก หลายสถานประกอบการเลิกจ้างพนักงานประจำแล้วจ้างพนักงานซับคอนแทรคเข้าไปแทนที่ ซึ่งเป็นรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงใดๆ สวัสดิการเทียบเท่าพนักงานประจำไม่ได้ และโอกาสถูกเลิกจ้างก็ง่ายมาก อีกทั้งพื้นที่อีอีซี ยังมีปัญหาการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย จากนโยบายการกระตุ้นให้นายทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีน เข้ามาลงทุนในอีอีซี และให้แรงงานมาทำงานในสายการผลิต ซึ่งควรเป็นส่วนที่สงวนให้คนไทย

 

 

 

 

ส่วนเรื่องการอัพสกิลและรีสกิล นายสหัสวัต ระบุว่า แม้การผลิตหลักสูตร การตั้งศูนย์การทดสอบ และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานต่างๆ เป็นสิ่งที่ดี แต่นโยบายดังกล่าวยังขาดตัวชี้วัดความสำเร็จ อีกทั้งการอัพสกิลและรีสกิลยังเป็นไปไม่ได้เลยตราบที่แรงงานยังต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ บางวันหลายสิบชั่วโมง เพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ไม่มีเวลาพักผ่อนและยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการสมัครและการเดินทางไปเรียนหลักสูตรเหล่านี้ด้วย

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube