รัฐสภา ถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ วาระ 2-3 เปิดช่องประชามติทาง ปณ. ,ออนไลน์,นอกราชอาณาจักร พร้อมกำหนดเกณฑ์ผ่านประชามติต้องมีผู้ใช้สิทธิ์ต้องมีผู้ออกเสียงไม่น้อยกว่า 50%
การประชุมร่วมรัฐสภา ได้เริ่มการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระที่ 2 ตามที่กรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จโดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แถลงผลการปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการฯ โดยหวังว่า ร่างกฎหมายประชามติฉบับนี้ จะสามารถช่วยปฏิรูปการเมืองได้ พร้อมเปิดช่องทางให้ประชาชน สามารถออกเสียงประชามติได้อย่างทั่วถึง
สำหรับ สาระสำคัญภายในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามตินั้น ได้มีการกำหนดขั้นตอนการออกเสียงประชามติ สามารถดำเนินการได้ 2 กรณี ได้แก่ การออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ให้ประธานรัฐสภา แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และการออกเสียงประชามติ ในประเด็นที่ ครม. เห็นสมควร โดยให้นายกรัฐมนตรี ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการออกเสียงประชามติ ตามวันที่ได้หารือร่วมกับ กกต. ซึ่งจะต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภา หรือวันที่ ครม. มีมติ
โดย กกต. สามารถจัดลงคะแนนออกเสียงประชามติทางไปรษณีย์ หรือลงคะแนนออกเสียงผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบออนไลน์ หรือโดยวิธีอื่น ในกรณีที่ กกต. เห็นสมควรได้ พร้อมยังเปิดโอกาสให้ประชาชน ที่อยู่นอกราชอาณาจักร สามารถออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักรได้ด้วยเช่นกัน
ส่วนหลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินผลการออกเสียงประชามติ ในมาตรา 13 กรรมาธิการฯ ได้ปรับแก้ผลการออกเสียงประชามติ ที่จะได้รับความเห็นชอบจากเดิมที่ใช้เสียงข้างมากของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ เป็น “จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกิน 50% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด” หรือ ประมาณ 25 ล้านคน และต้องมีจำนวนเสียง เกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้นด้วย ซึ่งหากมีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 50% หรือประชาชนผู้มีสิทธิ์ไม่น้อยกว่าประมาณ 25 ล้านคน ส่งผลให้ ประชามติถูกคว่ำทันที ซึ่งทำให้ ส.ส.ส่วนหนึ่งกังวลว่า จะเกิดการรณรงค์ให้ประชาชนทับสิทธิ์ ไม่ต้องออกมาลงคะแนน เพื่อล้มการออกเสียงประชามติได้ โดยเฉพาะในการออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญ
นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่ทำลายเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือ จงใจให้เครื่องลงคะแนนเสียหาย หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการลงคะแนนให้ผิดไปจากความเป็นจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักรด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news