“พิธา”ยันหวังดี ปัดด้อยค่าผลงาน”รบ.เศรษฐา”
“พิธา”ปัดด้อยค่าผลงาน”รัฐบาลเศรษฐา” ยืนยันหวังดีนายกฯ จับตาระเบียบกรมราชทัณฑ์คุมขังนอกเรือนจำเอื้อ “ทักษิณ”ขอเท่าเทียม มองคุกไม่ได้มีไว้ขังคนจนหรือคนเห็นต่าง
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ที่ตนเองวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้โจมตี เป็นการวิเคราะห์เป็นการทำหน้าที่ เป็นสส.ฝ่ายค้าน ก็มีสิทธิ์มีเสียง ที่จะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่วิเคราะห์ไป ซึ่งตนเองทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์โดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้งเสมอ อย่าง การช่วยเหลือแรงงานไทยจากอิสราเอลในช่วงวิกฤต การฉีดวัคซีน HPV มดลูก 1 ล้านโดส ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ตนเองพูดอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็มีหลายเรื่องแม้แต่นายกรัฐมนตรีเองก็มีความกังวล เช่น ค่าไฟฟ้า เพิ่มค่าแรง ที่ก็ไม่เห็นด้วยและพยายามที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งหากอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ต้องลงไปดูในรายละเอียดในกระบวนการว่าถูกต้องหรือไม่ โดยเอาสูตรในการคำนวณค่าแรงงานของไตรภาคีคืออะไร ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเป็นการบริหารงานภายใน เพื่อจะได้สร้างความมั่นใจให้แก่แรงงาน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน และกฟผ. ซึ่งไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้บ่อยๆ กับนายกรัฐมนตรี จึงเตือนรัฐบาลด้วยความหวังดี
ส่วนที่ทางไตรภาคีไปทบทวนในการพิจารณาขึ้นค่าแรง จะทำให้การเมืองแทรกแซงหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า จะต้องไปดูกฎหมาย แต่ต้องเข้าใจว่าแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนของนายจ้างลูกจ้าง และราชการ ซึ่งคิดว่าทางราชการก็มีส่วนที่จะเข้าไปพูดคุย แต่ไม่แน่ใจว่าเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วทำไมถอดวาระนี้ออกไป ทำให้เกิดความไม่มั่นใจหรือไม่ชอบมาพากลได้ ก็เป็นข้อที่น่ากังวล ซึ่งจริงๆแล้วต้องบริหารจัดการให้เสร็จภายในการพูดคุยว่ากรอบที่เห็นควรจะเป็นอย่างไร เพราะบางทีไตรภาคีอาจจะดูแค่เฉพาะแรงงานอย่างเดียว แต่ไม่ได้ดูด้านเศรษฐศาสตร์ มหภาค เงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพ ผลิตผล ซึ่งตนเองไม่ทราบ เพราะตัวคูณอาจไม่ตกผลึก หากมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ทำให้ตัวเลขเปอร์เซ็นเปลี่ยนไปเยอะพอสมควร เป็น 2บาท 3บาท หรือ10บาท ในพื้นที่ที่ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น
จึงแนะนำให้ไปดูในรายละเอียด พร้อมยกตัวอย่างรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เข้าใจว่า มีบางเรื่องที่ต้องยกเว้นเพื่อให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เรื่องนี้ก็คงเป็นลักษณะเดียวกันที่ต้องไปดูในรายละเอียด
เมื่อถามย้ำถึงการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาลนายเศรษฐา 100 วัน ที่พรรคเพื่อไทยออกมาตอบโต้ว่าเหมือนเป็นการด้อยค่า จึงอยากให้ดูผลงานในระยะยาว เพราะ 3 เดือนแรกได้เข้ามาสางปัญหารัฐบาลที่แล้ว 8-9 ปี นายพิธา ยืนยันว่า ตนเองไม่ได้ด้อยค่ารัฐบาล แต่วาระ 100 วันแรก เป็น 100 Day Agenda ในเชิงรัฐศาสตร์เป็นเรื่องปกติของหลายๆประธานาธิบดี หลายๆนายกรัฐมนตรี และหลายๆรัฐบาล โดยยกตัวอย่างล่าสุด รัฐบาลนิวซีแลนด์ ที่มีการประกาศ 100 วันแรกเช่นเดียวกัน ว่า 40 กว่าข้อที่รัฐบาลจะทำมีอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องเวลาที่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่อาทิตย์แรกหรือ 2 อาทิตย์แรกที่เข้าไปทำงานแล้วไม่มีโอกาสได้ทำอะไร ตอนนี้ให้เวลาพอสมควรจึงคิดว่ามีความสำคัญ 1-2 ประเด็น คือ แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นว่าจะรักษาสัญญาก่อนเข้าสู่อำนาจหรือไม่และเป็นแผนงานในการขับเคลื่อนของรัฐบาลยิ่ง 100 วันแรก ที่ยังคงเป็นงบประมาณเดิมอยู่ งบประมาณมีจำกัด และกฎหมายก็ยังผ่านสภาไม่ได้ ยิ่งต้องมีแผนงานเพราะมีข้อจำกัดเยอะ
จึงเป็นสาเหตุที่ต้องมีวาระ 100 วันแรก เพื่อบริหารความคาดหวังของประชาชนบริหารความมั่นใจจากประชาชนและเวทีโลกว่าทิศทางในการบริหารราชการแผ่นดินหน้าตาจะเป็นลักษณะอย่างไร วิสัยทัศน์เป็นอย่างไร และเป้าหมายเป็นอย่างไร รวมถึงแผนในการดำเนินการเป็นอย่างไร เพราะหากเราเรียกความมั่นใจให้ เพราะเศรษฐกิจเป็นเรื่องความมั่นใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เดินทางไปหลายประเทศ แล้วล่าสุด ก็ไปที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ถือว่าทำได้ดี จึงอยากให้ทำแบบฃกับประชาชนคนไทยแบบเดียวกัน และเมื่อมีการอธิบายกับธนาคารแล้วว่าเกี่ยวกับแลนด์บริด
ก็อยากให้กลับมาอธิบายที่สภา อธิบายประชาชนชาวระนอง ชาวชุมพร ว่าการศึกษาระหว่างสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ มีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะเท่าที่เป็นฝ่ายค้าน ใช้สภาประชุมคณะกรรมาธิการฯ คำตอบที่ได้รับจากฝ่ายเอกชน บริษัทเดินเรือ มันตรงข้ามกันกับที่ นายกรัฐมนตรี ไปพูดกับต่างประเทศ
ดังนั้น ควรจะอธิบายและบริหารความเชื่อมั่นกับประชาชนคนไทย ฝ่ายเอกชน บริษัทเดินเรือ ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะก็มีความกังวลในหลายเรื่อง และอยากได้คำตอบจากนายกรัฐมนตรี
ส่วนในฐานะที่พรรคก้าวไกล เป็นฝ่ายค้านจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งอย่างไรเกี่ยวกับการบังคับใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ในการคุมขังนอกเรือนจำ ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ในกรณี ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น นายพิธา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของระบบนิติรัฐ นิติธรรม มากกว่าการเจาะจงไปที่คนใดคนหนึ่ง ซึ่งการสร้างความสมานฉันท์ ความเท่าเทียม และปรองดอง ต้องเท่าเทียมกันทั้งระบบ ไม่ยึดติดในเรื่องของบุคคล โดยตนคิดว่านายชัยธวัช ตุลาธนหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้พยายามทำมาตลอด 1 เดือน ที่ผ่านมาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเข้าหาผู้ที่เห็นต่างเพื่อให้เกิดการเซ็ตซีโร่การเมืองไทย ให้การปรองดองและสมานฉันท์เกิดขึ้นได้จริงในการเมือง คือ การให้มีวัฒนธรรมเสาะหาข้อเท็จจริง ไม่มีวัฒนธรรมลอยนวลและรับผิดรับชอบในเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อให้คนโดนทำร้ายด้วยกฎหมายกับคนที่เห็นต่างทางการเมืองสามารถกลับมาเป็นธรรมดาปกติได้ทุกกรณี
ส่วนอยากบอกอะไรกับประชาชน ที่คุกมีไว้ขังคนจน นายพิธา กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ คือ ประเทศที่น่าอยู่ไม่ควรจะเป็นลักษณะแบบนั้น โดยกฎหมายควรที่จะเสมอภาคกับทุกคน ไม่ว่าจะรวยดีมีจน ซึ่งก็ไม่ใช่แค่กฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่สภา แต่อยู่ที่ต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม เช่น การปฏิรูปตำรวจ ที่ทางนายรังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่ได้พยายามทำมาโดยตลอด ซึ่งคิดว่าถ้าหากเราทำได้คงไม่ควรที่จะมีไว้ขังคนที่เห็นต่างทางการเมือง ควรมีไว้เพื่อให้สังคมสงบสุขและมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นประชาชน ที่ช่วยพัฒนาชาติได้
นายพิธา ยังถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่าระเบียบของกรมราชทัณฑ์ใหม่นั้นเอื้อให้กับนายทักษิณ ว่า นายชัยชนะ เดชเดโช ประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าระเบียบนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2563 ก่อนที่นายทักษิณจะกลับมา หากสิ่งที่สภาฯ ตรวจสอบแล้วเป็นจริงก็ต้องให้ความเป็นธรรม ส่วนตัวมีข้อกังวลเพราะระเบียบนี้ระบุว่าจะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการรวมศูนย์ ญาติพี่น้องหรือคนที่ติดอยู่แม้จะผ่านเวลาการได้รับโทษ 1 ใน 3 แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะขอร้องได้ พร้อมทั้งมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีบ้าน โรงงาน และสถานที่ราชการเป็นหลักแหล่งในการดูแล แสดงถึงความเหลื่อมล้ำ ต้องเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะถึงจะมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการแบบนี้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews