หอการค้าฯ ดันข้อเสนอเอกชน 3 จว.ชายแดนใต้ ฝากรัฐทบทวน-ขยายมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมรับฟังข้อเสนอจากผู้ประกอบการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่จากเหตุการณ์ความไม่สงบและจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง ที่มีวัตถุประสงค์เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการลงทุน ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ในรูปแบบสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน โดยให้ดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 1.5 ต่อปี และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในวงเงินกู้ทั้งหมด 25,000 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงตามมติ ครม. และจะต้องชำระเงินกู้ทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ได้สะท้อนปัญหามายัง
โดยหอการค้าไทย มองว่าผู้ประกอบการที่ได้รับวงเงินสินเชื่ออยู่ในปัจจุบันจำนวนมาก อาจไม่สามารถเตรียมพร้อมในการชำระเงินคืนได้ทัน ส่งผลให้มีภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 2 – 3 เท่าทันที จากการประเมินพบว่ามีผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว ประมาณ 4,890 ราย รวมวงเงิน 20,872 ล้านบาท จากวงเงินโครงการทั้งหมด 25,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลชดเชยต้นทุนดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินในวงเงินที่ไม่มากและอยู่ภายใต้กรอบเดิมที่ตั้งไว้ หากเทียบกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดนี้ได้ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสถานการณ์หนี้เสีย (NPL) และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในพื้นที่
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับหอการค้าไทยได้มีการส่งข้อเสนอเปิดผนึกไปถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาทบทวนแนวทางการช่วยเหลือ ดังนี้
1. ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ขอให้ ครม. มีมติพิจารณาชะลอนโยบายการชำระสินเชื่อเพื่อลดวงเงินกู้ยืมทั้งในส่วนของวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 66 และวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 67 ออกไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางการชำระเงินกู้ให้สอดคล้องกับความสามารถของผู้ประกอบการ ผ่านคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตามมาตรการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดนใต้ (สินเชื่อ Soft Loan) ที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงิน และภาคเอกชนในพื้นที่
2. ขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนขยายระยะเวลาชำระหนี้ทั้งหมดจากภายในปี 68 เป็น ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2570 โดยระหว่างนี้ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบการร่วมกันหารือ เพื่อวางแผนการชำระหนี้ และเจรจาปรับอัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงที่เห็นพ้องกันทั้งสองฝ่าย ต่อไป
ทั้งนี้ หอการค้าไทยเชื่อว่าข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยเติมทุนและขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก จึงจำเป็นต้องอาศัยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลและสถาบันการเงินในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าธุรกิจ และสร้างการจ้างงานในพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดียิ่งขึ้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews