นักวิชาการ เห็นด้วยรัฐเร่งแก้หนี้ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจ
นักวิชาการ เห็นด้วยรัฐเร่งแก้หนี้ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจ จับตาจำนวนลูกหนี้นอกระบบลงทะเบียนแก้หนี้น้อยเกินจริง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า การประกาศนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และหนี้ทั้งระบบ เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 ทำให้วงเงินหนี้นอกระบบสูงขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงคิดเป็นร้อยละ 90.6 ต่อจีดีพี ซึ่งสูงกว่าศักยภาพที่ร้อยละ 80 ต่อจีดีพี ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐต้องดำเนินการ
โดยเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาที่หนี้นอกระบบ ด้วยการนำฝ่ายปกครองและความมั่นคง เข้ามามีส่วนร่วมในการไกลเกลี่ยหนี้ ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จากอัตราดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนด ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านกระทรวงการคลัง และสถานบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และการใช้ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับกระทรวงการคลัง หรือ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ คือการใช้นายทุนเงินกู้ในพื้นที่ มาลงทะเบียน ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 8 ต่อปี ถือว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็นและถูกจุด
ซึ่งตรงกับผลการสำรวจความคิดเห็นของภาคประชาชนทุกกลุ่ม เห็นตรงกันว่าปัญหาหนี้ของประชาชน และหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญที่ควรแก้ไข รวมถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ และปัญหาของรายได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลจึงแก้ไขโดยการกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้นตามความตั้งใจให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4 ผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอเล็ต
รวมถึงการเดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ แลนด์บริดจ์ เพราะโดยเชื่อว่า จะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ในระยะยาว ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโตไปในทิศทางที่ดี ประชาชนมีรายได้ และมีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้มากขึ้น ก็จะส่งผลต่อ GDP ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น
นายธนวรรธน์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงจำนวนลูกหนี้นอกระบบที่มาลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบกับหน่วยงานภาครัฐ สถิติที่มีสัดส่วน ต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขผู้ลงทะเบียนหนี้นอกระบบในปัจจุบันกับปี 2554 และปี 2560 ที่ลงทะเบียนผูกพันกับความเป็นหนี้นอกระบบในอดีตที่ผ่านมามีกว่า 1 ล้านราย วงเงินหนี้นอกระบบประมาณ 100,000 ล้านบาท
จึงเป็นปัญหาที่ต้องไปตรวจสอบว่าลูกหนี้ไม่กล้ามาลงทะเบียน หรือ ไม่มีหนี้นอกระบบ หากมองไปในระยะยาวถ้ามีการลงทะเบียนมากขึ้นปัญหาหนี้นอกระบบจะถูกคลี่คลายลง แปลงสู่หนี้ในระบบและมีภาระดอกเบี้ยต่ำลง ทำให้ประชาชนหลุดจากวงจรการจ่ายหนี้นอกระบบ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด แต่ต้องใช้เวลา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews