“ปดิพัทธ์” ยืดอกรับมีส่วนต้องรับผิดชอบ เคยเข้าชื่อยื่นแก้ ม.112 บอกปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ พร้อมให้ความร่วมมือ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่ตนเองเป็นหนึ่งใน สส. 44 คน ของพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อปี 2564 โดยระบุว่า ต้องหารือกัน เพราะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เนื่องจากตนเองก็เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคชุดนั้นจริงๆ และเป็นผู้เห็นด้วยกับนโยบายหาเสียงดังกล่าว ทั้งนี้ เรื่องในอดีต ตนก็มีส่วนทั้งรับผิดและรับผิดชอบ ดังนั้น ก็ปล่อยให้เป็นกระบวนการ ถ้าจะมีการเรียกไต่สวนหรือเรียกพยาน ก็พร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
นายปดิพัทธ์ ย้ำว่า ที่ผ่านมาก็ได้ชี้แจงอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการนำเสนอนโยบายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แคมเปญต่างๆ รวมถึงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนและพูดไปตามข้อเท็จจริง และไม่กังวลว่าจะกระทบกับตำแหน่งของตนเองในอนาคต แต่กังวลว่าจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่า เพราะตอนนี้ฝ่ายนิติบัญญัติกลับมีองค์กรอื่น มากำหนดว่า สส.ทำอะไรได้หรือไม่ได้ เสนอกฎหมายได้หรือไม่ได้ เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก ขณะเดียวกัน ขอยืนยันว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับตน ไม่ใช่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งได้นานเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องว่าประเทศไทยของเรายังไม่หลุดพ้น จากอำนาจที่อาจจะอยู่เหนือหรือล้ำรัฐธรรมนูญ
ส่วนในระยะสั้นเชื่อว่าสังคมจะเกิดคำถามต่อกระบวนการพิจารณาขององค์กรอิสระว่า มีความยุติธรรมและเป็นไปตามจริยธรรมที่ถูกต้องขององค์กรหรือไม่ และยังมีเรื่องของการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งคิดว่า เป็นเรื่องใหม่ในสังคมที่ไม่เคยเจอมาก่อน หากคำตัดสินไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ นักวิชาการจำนวนมากก็มองว่าจะเป็นการใช้อำนาจเกินไปหรือไม่
สำหรับการหารือในระยะยาวนั้น คือเรื่องบทบาทขององค์กรอิสระต่างๆ ที่แม้จะเริ่มมีต้นกำเนิดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็มีผลพวงมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่ต้องมีการทบทวนอย่างหนักถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะไม่เคยได้รับการประเมินอย่างตรงไปตรงมาถึงความจำเป็นที่จะมีอยู่หรือไม่มีในอนาคต รวมถึงรูปแบบการทำงานและอำนาจหน้าที่
นอกจากนี้ นายปดิพัทธ์ เน้นย้ำว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่อำนาจนิติบัญญัติโดนดูถูก และตกต่ำ เพราะหาก สส. ที่เป็นตัวแทนของประชาชน หากจะเสนอกฎหมายทุกเรื่องต้องถามศาลก่อน ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามหลักการ มองว่าแม้แต่คนในกระบวนการยุติธรรมเอง ถ้าทำผิดก็ควรต้องมีกระบวนการเอาผิดได้ ไม่อย่างนั้นก็จะมีอำนาจล้นเกินของฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
ขณะการแก้รัฐธรรมนูญ ควรจะจัดสมดุลอำนาจอย่างไร ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยว่า นิติบัญญัติจะสามารถเป็นเอกเทศได้โดยไร้การตรวจสอบ แต่ผู้ตรวจสอบเองกลับไม่มีใครไปตรวจสอบเขา และยังมองว่า อำนาจนิติบัญญัติตกต่ำที่สุด ใน 3 อำนาจ คือบริหาร และตุลาการ จึงคิดว่าต้องกลับมาจัดสมดุลอำนาจใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews