ปปช.ชง 8 ข้อถึงรบ.ย้ำไม่ขวางดิจิทัลวอลเล็ต
ป.ป.ช.ชง 8 ข้อถึงรัฐบาล ย้ำ ไม่ขวางดิจิทัลวอลเล็ต แต่มีหน้าที่เสนอแนะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือภาระต่อรัฐบาลและประชาชนในอนาคต
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลง “ความคืบหน้าเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต” ว่า ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เนื่องจากมีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบพระราชธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ในการเสนอมาตรการความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการในการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือการวางแผนโครงการของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจรวมถึงหน่วยงานของรัฐเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและอาจสร้างภาระการคลังในระยะยาว
โดยคณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีการแต่งตั้ง”คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital wallet ” เพื่อศึกษารายละเอียดและผลกระทบรวมถึงความเสี่ยง ต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตามนโยบาย โดยได้มีการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงจากเอกสารต่างๆรวมถึงรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในกรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ซึ่งจากการศึกษา พบว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาเป็น 4 ประเด็นหลัก
ประกอบด้วยความเสี่ยงต่อการทุจริตประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย และประเด็นความเสี่ยงอื่นๆเกี่ยวกับเทคเทคโนโลยี ที่จะนำมาเกี่ยวข้อง ในการกำหนดนโยบาย ซึ่งทางป.ป.ช.ได้มีการทำข้อเสนอแนะ จำนวน 8 ข้อ ในการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชนประกอบด้วย
1. รัฐบาลควรศึกษาวิเคราะห์การดำเนินโครงการตามนโยบายรวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปประธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมืองนักการเมืองหรือเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบายรวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้ประโยชน์จากโครงการของรัฐอย่างแท้จริงหรือไม่
2. การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้นมีความแตกต่างกันสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วยมิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำคัญของพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไรเมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้
3. การดำเนินนโยบายของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเติมเงิน 10,000 บาทควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคตภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือความโปร่งใส การถ่วงดุล การรักษาความมั่นคงของระบบการคลังและความคล่องตัว รัฐรัฐบาลพึงต้องใช้ความระมัดระวังพิจารณาระหว่างผลดีผลเสียที่จะต้องกู้เงินจำนวนค่าแสนล้านบาทในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาวซึ่งจะต้องมีการตั้งงบประมาณในการชำระหนี้ จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบกับตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐในอนาคต
4. การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบด้าน เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ 2561 พระราชบัญญัติ เงินคงคลังพ.ศ 2491 รวมถึงกฎหมายอื่นๆ
5. คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทอย่างรอบด้านโดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและป้องกันการทุจริตตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อนระหว่างและหลังการดำเนินโครงการซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของทางปปชเรื่องการบูรณาการป้องกันการทุจริตโครงการภาครัฐ มา บังคับใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น
6. ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน
7. จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆที่ได้มีการศึกษาและตัวทวีคูณทางการคลังรวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการรวบรวมประมวลผลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลก IMF มีความเห็นตรงกันว่าในช่วงเวลาที่ศึกษา อัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้นดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนรัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงการทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ
ในกรณีที่รัฐบาล ต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤตควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุดและต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง
8. หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้อง การช่วยประชาชนรัฐบาลควรช่วยกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจนที่เปราะบางที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้นด้วยการใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่การกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญขาดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังและขัดกับพระราชบัญญัติเงินตรา ประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว
โดยความเห็นทั้งหมดทางสำนักงานป.ป.ช.จะมีการรวบรวมนำเสนอส่งถึงรัฐบาลคาดว่าภายใน 2-3 วันนี้ โดยย้ำว่าทางป.ป.ช.ไม่ได้คัดค้านโครงการใดๆของรัฐบาลเพียงแต่ให้ข้อเสนอแนะตามหน้าที่ซึ่งรัฐบาลจะต้องนำข้อเสนอแนะไปวิเคราะห์และตัดสินใจดำเนินนโยบายต่อไป เชื่อว่าวันนี้ รัฐบาลยังฟังความเห็นของป.ป.ช.อยู่ ไม่เช่นนั้นคงเดินหน้าไปแบบไม่รอแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดีเป็นเรื่องที่ช่วยกันทำไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เวลานี้ถือว่าไม่ได้มีอคติต่อกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews