ประวิตร ยัน พรรคร่วมไม่แตกแยก แก้ รธน. ย้ำเป็นนโยบายรัฐบาล บอกไม่เกี่ยวตั้งพรรคสำรอง
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นเรื่องของสภา จะให้รัฐบาลเป็นได้อย่างไร สภากับรัฐบาลเป็นคนละเรื่องกัน ยืนยันว่ารัฐบาลให้เดินหน้าเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งฉบับแต่ขอให้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลต่างฝ่ายมีความเห็นเสนอร่างของตัวเอง ยืนยันว่า ไม่แตก ใครเสนอก็เหมือนกัน จะแก้ไขรายมาตรา หรือ แก้ทั้งฉบับรัฐบาล ก็พร้อม จุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ ยังไงก็ได้ ไม่เป็นปัญหา เพราะเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องถาม
ส่วนจะได้เห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลนี้หรือไม่นั้น ระบุว่า ก็ได้เห็น จะทำอย่างไรก็ว่ากันไป อยากแก้ก็แก้เลย ขอให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่ทำตามศาลรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ เมื่อถามทิ้งท้ายว่าอยากเห็นการแก้ไขรายมาตราหรือแก้ไขทั้งฉบับ นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เห็น ตนยังไม่เห็น แล้วแต่
ไม่รู้ 6 ดาวฤกษ์ ลบล้างกับ “ชาดา”ประการศกลางสภาได้หรือไม่ ไม่เกี่ยวตั้งพรรคสำรอง แก้ รธน.เดี่ยวค่อยคุยกัน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคสำรอง เพราะหลายคนมองว่าอาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันในรัฐบาลนี้ และต้องเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิม ว่า ไม่รู้ ตนเองไม่ได้ทำ พร้อมย้ำด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่การตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจแน่นอน ตอนนี้ก็อายุ 2 ปีแล้ว ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เดี่ยวจะต้องมีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ จะจับมือกันเพื่อเสนอร่างแก้ไข โดยไม่เชิญพรรคพลังประชารัฐ ก็จะต้องคุยกัน จะแก้อย่างไรก็ต้องแก้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธตอบถึงเหตุการณ์ ที่ 6 ดาวฤกษ์ งดออกเสียงให้นายศักดิ์ สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับกรณีที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. พรรคภูมิใจไทยลุกขึ้นประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคการเมืองที่ฉ้อฉล ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 สามารถลบล้างกันได้หรือไม่ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่รู้ แล้วแต่สื่อมวลชนจะคิดอย่างไร ก่อนที่จะย้ำในช่วงท้ายว่า ไม่มีอะไร
ทั้งนี้ ได้ทิ้งท้าย ได้สั่งการให้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนโดยด่วนแล้ว และยอมรับสถานการณ์ปีนี้ค่อนข้างรุนแรง มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก
“จุรินทร์” รอคุย พปชร.แก้รธน.ในวิป พร้อมเดินหน้าผลักดันให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ มั่นใจ 208 ส.ส. สว.ลงมติเห็นชอบ ไม่ผิด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางการ แก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลได้มีการพูดคุยกัน 3 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ยังไม่ได้พูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากยังไม่ได้เจอกันและจะมีโอกาสพบกันระหว่างที่มีการประชุมวิปรัฐบาล ซึ่งคาดว่า จะมีการหยิบยกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหารือกันด้วย ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะพยายามเดินหน้าและผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ภายในรัฐบาลนี้แม้จะมีเวลาเหลือเพียงแค่ 2 ปี เพราะหากการเมืองสงบนิ่ง บ้านเมืองมีเสถียรภาพ ทุกอย่างก็จะเดินหน้าได้ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกของประเทศ
ส่วนการที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้เอาผิด กับ ส.ส. และส.ว. จำนวน 208 คน ที่ลงมติโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3
นายจุรินทร์ ยืนยันว่า การลงมติเป็นความเห็นชอบ ร่วมกันของรัฐสภาและการลงมติในวาระ 3 ก็เป็นมติของรัฐสภา ซึ่ง 208 คน ที่ เป็นส.ส. และส.ว. ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีปัญหาอะไร จึงอยากตั้งข้อสังเกต เหตุใดนายศรีสุวรรณ จึงร้องให้เอาผิดกับบุคคลที่เห็นชอบ แต่ไม่เอาผิดกับคนลงมติไม่โหวต รับร่างรัฐธรรมนูญ
ชทพ. ย้ำ ต้องแก้ รธน. ชี้ทุกพรรคต้องหารือแนวทาง ในกรรมาธิการฯ เชื่อมีทั้งข้อดีข้อเสีย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงแนวทาง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในส่วนของพรรคยังไม่ได้มีการประชุมหารือกัน แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องหารือกันก่อน ซึ่งแต่ละพรรคก็มี
แนวทางที่แตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมมือกัน ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนา จะต้องร่วมกับหลาย
พรรคการเมือง เพื่อให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ และเป็นที่ยอมรับ
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้มาทาบทามให้ไปร่วมกับแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยกันในคณะกรรมาธิการ
พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ต้องไปหารือกันภายในพรรคของตนเองก่อน ขณะเดียวกัน
การความร่วมมือจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ต้องใช้แนวทางของกรรมาธิการฯ ด้วยเช่นกัน และไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำในนามของพรรคร่วมรัฐบาล
หรือแต่ละพรรคแยกกันทำก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
คกก.กฎหมาย ประชาธิปัตย์ นัดถกยกร่าง แก้ รธน. รายมาตรา พรุ่งนี้
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกฎหมายพรรค กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายพรรคจัดทำการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา
ซึ่งข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่เริ่มทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมีครบถ้วนแล้ว ฝ่ายกฎหมายจะได้มีการนัดประชุมในวันพรุ่งนี้ 24 มีนาคม เวลา 14.00 น. ที่พรรค เพื่อเริ่มต้นทำเป็นต้นร่าง มีร่างเดิมที่ได้เตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้วคือ มาตรา 256 และมาตรา 272 และมีประเด็นเรื่อง ระบบเลือกตั้ง รวมไปถึงประเด็นการตรวจสอบถ่วงดุลในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเรื่องสิทธิชุมชน เป็นประเด็นเบื้องต้น ทำแยกเป็นรายฉบับ และไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และ หมวด 2 เมื่อดำเนินการเสร็จก็จะได้นำเสนอหัวหน้าพรรคต่อไป ฝ่ายกฎหมายคาดว่าจะเสร็จทันก่อนเปิดสมัยประชุมสามัญ
นายราเมศ กล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายควรจริงใจในการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น หากทุกคนคิดเพื่ออนาคตในเรื่องประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ เชื่อว่าจะเดินไปได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news