“ก้าวไกล” ชง3ข้อเสนอแก้สินค้าต่างชาติทะลักถล่ม SMEsไทย
“ก้าวไกล” ชวนจับตานโยบาย ชง 3 ข้อเสนอ แก้ปัญหาสินค้าต่างชาติทะลักถล่ม SMEs ไทย เลิกยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท
พรรคก้าวไกล แถลงข่าวจับตานโยบาย (Policy Watch) “ภาษีต้องเป็นธรรม อย่าให้สินค้าต่างชาติบนแพลตฟอร์มฆ่า SMEs ไทย” โดย สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการแถลงตั้งข้อสังเกตพร้อมข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในการแก้ปัญหาช่องว่างทางภาษีที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์สินค้าต่างชาติล้นตลาดเข้ามาเอาเปรียบผู้ประกอบการชาวไทยและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
ปัจจุบันการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ สินค้าจากต่างชาติสามารถอาศัยช่องว่างทางภาษี ที่อนุญาตให้สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทไม่ต้องเสียอากรนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่สินค้าไทยจากผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการไทยกำลังถูกเอาเปรียบ จากช่องว่างทางภาษีตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ภาคเอกชนได้เคยร้องเรียนปัญหาดังกล่าวนี้มายังคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีตนเป็นประธาน ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญทั้งผู้ประกอบการ
ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพากร กรมศุลกากร กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มาให้ข้อมูล
และต่อมาได้นำไปสู่การแถลงข่าวเพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้มีมาตรการแก้ไข
ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดจนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมารับข้อเสนอ
ทั้งจากคณะกรรมาธิการฯ และจากภาคเอกชน ที่ขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนช่องว่างทางภาษีเหล่านี้ที่กำลังเอาเปรียบพี่น้องเอสเอ็มอี
วันนี้ พรรคก้าวไกลจึงขอสื่อสารไปยังรัฐบาลถึงสิ่งที่ต้องทำว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งจากการประมาณการของสถาบันวิจัย Krungthai Compass พบว่ามูลค่า
การค้าของสินค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่ที่ปีหนึ่งประมาณ 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งตนอนุมานว่า สินค้าที่มาจากแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท
มีปริมาณมากอาจจะอยู่ที่ราว 90% ของ 6-7 แสนล้านบาทนี้ นั่นหมายความว่าแต่ละปี 4-5 แสนล้านบาทกำลังไหลไปสู่ต่างประเทศจากช่องว่างทางภาษี และรายได้ส่วนนี้ รัฐเก็บภาษีไม่ได้
ดังนั้น สิ่งที่อยากฝากไปยังรัฐบาลเป็นการบ้านง่ายๆ มีไม่กี่เรื่อง และไม่จำเป็นต้องไปทำการศึกษาเพิ่มแล้ว เพราะสิ่งนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ภาคเอกชนเรียกร้องมา 3-4 ปีแล้ว และทุกครั้งภาครัฐก็บอกว่ากำลังศึกษาอยู่ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำทันทีมีอยู่อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ
1) แก้ประกาศกรมศุลกากรที่ 191/2561 ไปปรับตัวเลขยอด 1,500 บาทให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ที่ไม่สร้างผลกระทบความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการชาวไทยหรือสินค้าไทย ซึ่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยตรง และสามารถทำได้ทันที
2) ต้องมีกระบวนการติดตามที่เพียงพอ ให้แพลตฟอร์มที่ให้บริการจากต่างประเทศต้องมาจดแจ้งและนำส่งรายได้อย่างครบถ้วน สิ่งนี้เป็นอำนาจของกรมสรรพากร ซึ่งก็อยู่ภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเช่นกัน
3) ให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระทรวงดิจิทัลฯ ไปคุยกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายสินค้าในประเทศไทย ซึ่งก็มีไม่กี่เจ้า ให้ไปทำระบบกวดขันผู้ค้าให้ต้องระบุเลขอย. หรือ มอก. พร้อมทำระบบหลังบ้านเพื่อตรวจทานกับ อย. หรือ มอก. ว่าเลขเหล่านั้นเป็นเลขที่จดแจ้งอย่างถูกต้องหรือไม่
ทั้งหมดนี้ต้องทำทันที เพราะภาคเอกชนพี่น้องเอสเอ็มอีลำบากมามากและลำบากมานานแล้ว สิ่งเหล่านี้พี่น้องเอสเอ็มอีจำนวนมากไม่เคยทราบว่านี่คือปัญหาที่เกิดจากช่องว่างทางภาษีแต่เขาเป็นคนได้รับผลกระทบ พี่น้องโรงงานเอสเอ็มอีจำนวนมากไม่รู้เลยว่าทำไมวันหนึ่งออเดอร์ถึงหายไป พวกเขาจำนวนมากเปิดร้านค้าจ่ายค่าเช่า ไม่รู้ว่าทำไมนับวันเขาถึงขายของไม่ได้ นี่คือต้นตอของปัญหา นี่คือความรุนแรงของปัญหาที่ทำให้ครอบครัวกิจการเอสเอ็มอีไทยจำนวนมากไปต่อไม่ได้
ขณะเดียวกัน ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดจนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาอะไรอีกแล้ว เพราะมีการศึกษามานานแล้ว โดยมีหน้าที่ต้องไปทำ เพราะสุดท้ายถ้าไม่รีบแก้จะเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว รายได้จากการค้าออนไลน์จะไหลไปสู่ต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งจะกระทบกับการประกอบธุรกิจ ของชาวไทย โรงงานไทย ตลอดจนการจ้างงาน การลงทุน และศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews