กมธ.ศึกษาสัมมนา”เปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ให้ประเทศ”
กมธ.ศึกษาจัดสัมมนา”เปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ให้ประเทศ” ด้าน “อภิสิทธิ์” ชี้หลักการพ.ร.บ.การศึกษาฯ ยังคงเหมือนเดิม แต่ต้องขยายไปถึงการทำให้สังคมมีความสุข
คณะกรรมาธิการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรจัดสัมมนาเรื่องเปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ให้ประเทศ มุ่งพัฒนาด้านการศึกษาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทจากทั่วโลก ปรับทิศทางการพัฒนาครู นักเรียนโดยการปรับกฎหมายให้มีทิศทางหลักให้ทันต่อสภาพการณ์ปัจจุบันและในอนาคต
นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง เปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ให้ประเทศ ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โดยมีคณะกรรมาธิการการศึกษากรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนจากคณะกรรมการ คณะผู้บริหารการศึกษาของไทย ภ ้ม ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครองนักเรียน บุคลากรทางการศึกษา ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนทั่วไปที่สนใจจำนวน 550 คนเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้
นายโสภณ กล่าวว่า กมธ.การศึกษาได้เล็งเห็นปัญหาสำคัญของชาติซึ่งถึงขั้นวิกฤตินั่นคือปัญหาทางการศึกษาที่เราประสบอยู่ขณะนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทางคณะกมธ.ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาแห่งชาติให้ทัดเทียมกับนานาชาติ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าผลการศึกษาหรือการประเมินทั้งในชนบทหรือในเมืองนั้น สภาพปัญหาไม่ได้ต่างกัน จะเห็นได้ว่ามีปัญหาทุกบริบทที่อยู่ในวงการศึกษา วันนี้จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะได้ร่วมกันร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ขึ้นมาด้วยการออกกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติให้สำเร็จ ทั้งนี้ ตนได้เล็งเห็นบุคคลที่จะสามารถมากระตุ้นแล้วฉายภาพให้คนในสังคมได้เห็นถึงปัญหาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงโดยเร็วจึงตัดสินใจนำผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมระดมแสดงความคิดเห็นโดยมุ่งหวังที่จะได้รับทราบข้อมูล ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มีความหลากหลายเพื่อรวบรวมข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ในการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้มีผู้เข้าร่วมเสวนาและอภิปราย รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และพระพรหมบัณฑิต ประยูร ธัมมะจิตโต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าหลักการของ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ยังคงเหมือนเดิม แต่ต้องมีการขยายไปถึงการทำให้สังคมมีความสุขด้วย อย่างไรก็ตาม มองว่ายังไม่เป็นไปตามเป้าหมายหลายเรื่อง แม้ว่ากฎหมายมีการบังคับใช้ไปแล้ว มีการถกเถียงเรื่องการปรับโครงสร้าง ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงจนทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้
ทุกวันนี้เทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในอดีตหากประชาชนไม่ได้รับการศึกษา ก็จะทำให้ขาดความรู้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป และเด็กๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมด จึงไม่จำเป็นต้องผูกขาดการเรียนรู้เหมือนในอดีต และยังไม่นับการเปลี่ยนแปลงของ AI ที่มีผลต่อการเรียนรู้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ของคนเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิง ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนหน้าที่จากการให้ความรู้เปลี่ยนเป็นการให้ทักษะในการกลั่นกรองข้อมูลมาเป็นความรู้ด้วยตนเอง ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่กับอนาคตไม่เหมือนเดิมแล้ว คนรุ่นใหม่ตั้งเป้าหมายในชีวิตต่างกับคนรุ่นก่อน เป็นโจทย์ท้าท้ายกับการศึกษาแบบเดิมที่ป้อนคนเข้าสู่อุตสาหกรรม แต่เป็นการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ในอดีตรัฐบาลเคยคิดว่าแก้ปัญหาเรื่องโอกาสทางการศึกษาได้แล้ว แต่โครงสร้างการศึกษาที่เปลี่ยนไป มีเด็กตกหล่นจากการเข้าสู่ระบบการศึกษาจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สูงมาก แม้ว่า ปัจจุบัน ยังมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แต่ก็ยังไม่สามารถทำงานเชิงรุกได้เพียงพอ เช่นเดียวกับคุณภาพการศึกษาที่ลดลง ถ้าเราสามารถทำให้ทุกคนมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ดีกว่านี้ ก็จะทำให้ทุกคนมีความรู้ด้านการเงินที่ดีเช่นเดียวกัน และอนาคตจะมีเด็กที่มาจากผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น มีเด็กจากการย้ายถิ่นมากขึ้น จำเป็นต้องพิจารณาออกกฎหมายและนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เช่นเดียวกับสถานศึกษา ที่ต้องเผชิญกับการพลิกโฉมอย่างรวดเร็ว (Disruption) การเมืองระดับโลกที่แบ่งขั้ว สังคมสูงวัย พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัวให้ทัน สุขภาพมนุษย์ที่ต้องเผชิญกับโรคระบาด ส่วนระบบการศึกษานั้น ตนมั่นใจว่า โรงเรียนจะไม่หมดไปเพราะโรงเรียนถือเป็นระบบจำลองของสังคม เพราะต้องสร้างประสบการณ์ให้เยาวชนได้เรียนรู้ ยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่ทุกคนต้องการเข้าถึงข้อมูล มีนวัตกรรมดิจิทัล ส่วนอนาคตเป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีใหม่ (AI) คน (Mindset) และความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการศึกษาไทยยังเป็นแบบ 2.0 ครูยังเป็นศูนย์กลางให้ความรู้ เด็กยังเรียนรู้แบบปัจเจกบุคคล ต้องเปลี่ยนเป็นการศึกษาแบบ 5.0 ต้องเปลี่ยนกรอบความรู้ของเยาวชนให้ตั้งคำถาม อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ พร้อมทำงานเป็นทีม เน้นคุณธรรมและธรรมาภิบาล เน้นเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ และครูต้องทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนให้เยาวชน ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ได้ ก็ต้องสนับสนุนให้เยาวชนมีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ทั้งโลก ซึ่งในอนาคตมนุษย์และเทคโนโลยีจะเป็นหนึ่งเดียวกัน สิ่งสำคัญการศึกษาต้องสอนเรื่องเทคโนโลยี ควบคู่กับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมให้เป็นหนึ่งเดียวกันแก่ผู้เรียน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews