เพื่อไทย เสวนา “สตรีไทย Drive สภา : บูสท์ๆ ไม่อ่อมๆ” เพื่อหาคำตอบ ผลักดันบทบาทของผู้หญิงในการเมืองไทย
พรรคเพื่อไทย จัดเสวนาในหัวข้อ “สตรีไทย Drive สภา : บูสท์ๆ ไม่อ่อมๆ” เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2567 เพื่อค้นหาคำตอบและผลักดันบทบาทของผู้หญิงในการเมืองไทย ดำเนินรายการโดย นายสิรภพ อัตโตหิ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมรสเท่าเทียม
ทันตแพทย์หญิงศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส. บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การผลักดันการทำงานของผู้หญิง เริ่มมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล นำโดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ริเริ่มตั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ดูแลปัญหาสังคมของคนทุกเพศ มีกองทุนหมู่บ้าน
โดยที่บอร์ดกองทุนฯ ต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงและผู้ชายเท่ากัน จากนั้นสมัยรัฐบาล ที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพิ่มบทชาทผู้หญิงสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเครือข่ายความเป็นผู้นำในระดับพื้นฐาน และในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ฟื้น “OSCC” One Stop Crisis Center หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม
เพื่อให้การช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงแหล่งทุน เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ เช่น ยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ใช้การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ทุกพื้นที่
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังทำเรื่องการยุติความรุนแรง ซึ่งอาจต้องนิยามกันใหม่ว่าการคุมคามทางเพศ การคุกคามทางไซเบอร์ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ เกิดปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า ซึ่งควรต้องปรับปรุงกฎหมายนี้ให้ทันสมัยทันเหตุการณ์ พร้อมเสนอแนวคิดการจัดทำงบประมาณแบบ Gender Budgeting คือการนำกรอบคิดการใช้งบประมาณ โดยให้คำนึงถึงเพศสภาพ เพราะวันนี้เราไม่ใช่มีแค่ผู้หญิงผู้ชาย แต่เรามี LGBTQ+ ดังนั้นเราต้องช่วยกันดูการใช้งบประมาณต่างๆ ให้คำนึงถึงความเหมาะสมและเอื้อให้ทุกเพศสภาพได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเข้ามาทำงานการเมืองกับพรรคเพื่อไทย พรรคไม่มีการแบ่งเพศ การทำงานมาจากพื้นฐานที่เท่าเทียมเสมอภาค หากมีความสามารถ พรรคก็พร้อมที่จะผลักดันให้ร่วมทำงานที่สำคัญได้ การทำงานการเมือง ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เป็น สส. แต่ทุกหน้าที่ที่ในพรรคการเมือง หรือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่เกิดขึ้นในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่คิดจากประชาชนในชุมชน สร้างให้เกิดการสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ส่วนประเด็นสัดส่วน สส.ผู้หญิง ยังมากกว่าผู้ชายนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากการทำงานของ สส.ในพื้นที่ต่างๆ ประชาชนมีความเป็นห่วงว่าเพศหญิงจะสามารถงานจะหนักหรือไม่ ซึ่งตความคิดนี้จะหายไปเรื่อยๆ หากเนื้องานปรากฎ ทั้งนี้ในบางประเทศมีการกำหนดสัดส่วน สส.ผู้หญิงในสภา ต้องมี 30% ในขณะที่ประเทศไทย สัดส่วน สส.ผู้หญิงรวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ เริ่มมีสัดส่วนใกล้เคียง ทั้งที่ไม่ได้กำหนดจำนวนด้วยซ้ำ จึงมีทิศทางที่ดีที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
นางสาวจิรัชยา สัพโส สส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประสบการณ์ของการเข้ามาเป็นสส. สมัยแรก ต้องท้าทายกับค่านิยมทางเพศที่มองว่างานการเมืองเป็นของผู้ชาย เป็นความคิดที่ยังคงอยู่ในหลายพื้นที่ และมีการตั้งคำถามถึงความเก่ง ความแข็งแรง แต่ตนเชื่อว่าหญิงทุกคนแข็งแกร่งพอ และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ใครเห็น
เพียงแสดงศักยภาพให้มากที่สุดเพื่อเป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่แค่ สส. แต่ยังรวมถึงผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำองค์กรท้องถิ่นต่างๆ ด้วย ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าเพศไม่ได้เป็นข้อจำกัดและสามารถพิสูจน์ได้ในทุกพื้นที่ โดยต้องขอขอบคุณ สส. รุ่นพี่ที่คอยสนับสนุน สส. รุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานทางการเมืองและเชิญชวนให้ผู้หญิงรุ่นใหม่ทุกคนที่สนใจการเมืองเข้ามาร่วมกันเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในสภา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews