ไทยสร้างไทย ห่วงภัยแล้ง มาเร็วกว่าปกติ
ไทยสร้างไทย ห่วงภัยแล้ง มาเร็วกว่าปกติ รุนแรงในรอบหลายปี สั่ง ส.ส.รับฟังปัญหาประชาชน แจ้งรัฐบาลแก้ไข
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย และกรรมาธิการงบประมาณ ปี 2567 เปิดเผยว่า พรรคไทยสร้างไทยมีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคทุกวันอังคาร ตนจะเสนอให้พรรคแจ้ง ส.ส.ของพรรคนำความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องปัญหาภัยแล้งแจ้งให้รัฐบาลบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขอย่างเป็นระบบและอย่างเร่งด่วน
นายชวลิต กล่าวว่า จากข่าวที่ปรากฎต่อสื่อมวลชนจะเห็นได้ว่า ปรากฎการณ์เอลนิโญหรือภาวะโลกร้อนเริ่มแผลงฤทธิ์ ฤดูแล้งปีนี้มาเร็วกว่าปกติและค่อนข้างจะรุนแรงในรอบหลายปี เห็นได้จากเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 67 ที่ผ่านมา แม่ทัพภาคที่ 2 ร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาค สาขานครราชสีมา ได้บินสำรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งเขื่อนลำแซะ และสำรวจลำน้ำแม่น้ำมูล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาให้การประปาส่วนภูมิภาค สาขานครราชสีมา ซึ่งเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตประปาเหลือปริมาณน้ำดิบสามารถจ่ายน้ำให้ประชาชนได้เพียง 48 วัน
การเหลือปริมาณน้ำดิบที่จะผลิตน้ำประปาได้เพียง 48 วันดังกล่าว ถือว่าเป็นสถานการณ์วิกฤตที่รัฐบาลต้องทราบและพิจารณาหาทางแก้ไขวิกฤตดังกล่าวนั่นเป็นสถานการณ์ในภาคอีสานบางส่วน
ในภาคใต้ มีรายงานว่า จากภาวะฝนทิ้งช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเริ่มแล้งหนัก ส่งผลกระทบต่อป่าพรุควนเคร็ง ระดับน้ำใต้ผิวดินระเหยอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้ระดับน้ำจะเสมอดิน ทำให้พรุเริ่มแห้ง หลายพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า
จากการเป็นกรรมาธิการงบประมาณ ปี 2567 ทำให้ทราบว่ามีหลายส่วนราชการมีศักยภาพในการนำน้ำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละส่วนราชการทำงานแยกส่วน ต่างหน่วย ต่างทำ ถ้าไม่บูรณาการ มอบหมายงานแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบ งานก็จะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น
ณ สถานการณ์ความเดือดร้อนในปัญหาภัยแล้งเช่นนี้ รัฐบาลควรบูรณาการทุกภาคส่วนด้วยการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาภัยแล้งแห่งชาติขึ้น หรือหากมีอยู่แล้ว ก็ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยหน่วยที่ควรมี ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข เป็นอาทิ
หน่วยที่จะช่วยงานแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ทันที คือกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีแผนที่น้ำใต้ดิน มีเครื่องมือ อุปกรณ์ขุดเจาะน้ำบาดาล กรมฝนหลวง มีเครื่องบินทำฝนหลวงให้ฝนตกเหนือเขื่อยกรมชลประทาน กรม ปภ. หน่วยทหารพัฒนา ทุกหน่วยมีความพร้อม แต่ต่างหน่วย ต่างทำ ถ้ามีผู้บูรณาการ จะทำให้งานแก้ไขปัญหาภัยแล้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประการสุดท้ายเป็นงานระยะปานกลาง และระยะยาว คือ การปลูกป่า และการรักษาป่าต้นน้ำลำธาร มีกรณีศึกษาที่มีการแผ้วถางป่าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จนเกิดกรณีพิพาทระหว่างกรมอุทยาน ฯ กับสำนักงาน สปก. นายชวลิต กล่าวทิ้งท้ายว่า ใครผิด ใครถูก ยังไม่ทราบ แต่ที่เห็นตรงกัน คือ ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ สปก.ในพื้นที่ป่าและพื้นที่ลาดชันได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews