ก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด “พริษฐ์” อ้าง ไม่เห็นความคืบหน้าของรัฐบาล หนุนแนวงทางประชามติ 2 ครั้ง
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.และโฆษกพรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญในการจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ต่อนายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนรับยื่นหนังสือจากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร
โดยนายพริษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่า จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการศึกษาที่ รัฐบาลตั้งขึ้นมาโดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เสนอให้มีการทำประทำมติ 3 ครั้ง แต่ในอีกมุมหนึ่งเห็นว่า สส.พรรคเพื่อไทยนำโดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้มีการเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีการทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง
ขณะพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า เข้าใจถึงเหตุผลทางการเมือง และความจำเป็นของการทำประชามติ แต่หากจะยึดตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญรวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญการจัดทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว
พรรคก้าวไกล จึงตัดสินใจยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ฉบับก้าวไกล ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการดังกล่าว เป็นการเพิ่มหมวด 15/1 (การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) และแก้ไข มาตรา 256 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. จัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
– 100 คนแบบแบ่งเขต โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (สมัครเป็นรายบุคคล / ประชาชนเลือกผู้สมัครได้ 1 คน / ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือก)
– 100 คน แบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (สมัครเป็นทีม / ประชาชนเลือกทีมผู้สมัครได้ 1 ทีม / แต่ละทีมได้จำนวน สสร. ตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ)
ซึ่งระบบเลือกตั้งที่มี สสร. ทั้ง 2 ประเภท จะทำให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งตัวแทนเชิงพื้นที่ และตัวแทนเชิงประเด็น-กลุ่มอาชีพ-กลุ่มสังคม
2. กำหนดให้ สสร. มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ
3. กำหนดให้ สสร. มีกรอบเวลาไม่เกิน 360 วัน ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ สสร. มีเวลาเพียงพอในการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านและทำงานอย่างรอบคอบ ในขณะที่ไม่ทำให้กระบวนการมีความยืดเยื้อจนทำให้เราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างล่าช้าจนเกินไป
4. กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัคร สสร. ไว้ที่ 18 ปี ซึ่งสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากลว่าอายุขั้นต่ำสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมืองใดๆก็ตาม มักยึดตามอายุขั้นต่ำในการมีสิทธิเลือกตั้ง
5. กำหนดให้ สสร. มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบไปด้วย สสร. ไม่น้อยกว่า 2ใน3 ของจำนวนกรรมาธิการ และเปิดพื้นที่ให้กับคนนอกที่ สสร. คัดเลือกและอนุมติ เพื่อให้ กมธ. มีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ ที่อาจไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยตรง
6. กำหนดให้มีการจัดทำประชามติ หลังจากที่ สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ เพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
7. กำหนดให้ สสร. มีอำนาจจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) และส่งให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ เพื่อประหยัดเวลาและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
8. กำหนดให้ สสร. สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ โดยไม่ถูกกระทบจากการยุบสภาฯ หรือ จากการที่สภาฯหมดวาระ เพื่อความต่อเนื่องของ สสร. ในการทำงาน และของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
9. กำหนดให้ สสร. ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น สส / สว / รัฐมนตรี / ผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น / ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ / ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ภายใน 5 ปีแรก เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
10. ปรับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256โดยกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้ หาก
ได้รับความเห็นชอบเกินครึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือได้รับความเห็นชอบเกิน 2ใน3ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านประชามติ
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเข้าใจว่าทางประธานรัฐสภาได้ตัดสินใจไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ที่ถูกเสนอโดย สส. เพื่อไทย เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา โดยให้เหตุผลว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 กำหนดให้ต้องมีการจัดทำประชามติก่อนเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภา ในมุมมองของพรรคก้าวไกล มองว่า การกระทำดังกล่าวของประธานรัฐสภา เป็นการตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและการตัดสินใจที่เราไม่เห็นด้วย
โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประธานรัฐสภาจะทบทวนการตัดสินใจดังกล่าวและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากการเสนอร่างทั้ง 2 ร่างดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภา ไม่ได้เป็นขั้นตอนหรือมีเนื้อหาสาระส่วนไหนที่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่เพียงกำหนดไว้ว่าให้มีประชามติ 1 ครั้งก่อนมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประชามติ 1 ครั้งหลังมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สุดท้าย ภารกิจในการฟื้นฟูประชาธิปไตย ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากไม่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยทางเราหวังว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ฉบับก้าวไกล ที่เรายื่นเข้าสู่รัฐสภาในวันนี้ จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินหน้าไปสู่หมุดหมายดังกล่าว
ส่วนร่างดังกล่าวจะเป็นการเปิดช่องให้คณะก้าวหน้าและพรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งสสรได้ด้วยหรือไม่นั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ต้องไปดูว่าพรรคการเมือง สามารถเข้าไปมีบทบาทมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และประชาชนสามารถมีส่วนร่วม อาจไม่สมัครโดยตรงแต่สามารถสนับสนุนได้
ทั้งนี้ การแบ่งสสรเป็น 2 ประเภทนั้นมีความตั้งใจให้มีความหลากหลายครอบคลุมทุกพื้นที่แม้อาจไม่มีฐานเสียงสนับสนุนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็เปิดโอกาสให้แข่งขัน และมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews