“พิธา” ไม่เห็นด้วย “ทักษิณ” บอกขณะนี้วิกฤตหนักกว่าต้มยำกุ้ง
“พิธา” ไม่เห็นด้วย “ทักษิณ”บอกขณะนี้วิกฤตหนักกว่าต้มยำกุ้ง หวั่นรัฐบาลจ่ายยาผิด ขออย่ามองแค่ GDP จนละเลยความเหลื่อมล้ำ แนะรัฐบาลออก Road map จะได้วิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า วิกฤติของประเทศไทยตอนนี้หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 จะเป็นตัวเร่งให้รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเร็วขึ้นหรือไม่ ทั้งที่ยังไม่มีที่มาของเงินชัดเจน
นายพิธา กล่าวว่า คำว่า “เศรษฐกิจ”ไม่ดีมีหลายระดับ ตั้งแต่เศรษฐกิจซึม จนถึงเศรษฐกิจแบบวิกฤต เช่น เหตุการณ์ต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤตโควิด มีนิยามวิกฤตเหล่านี้ในระดับสากลอยู่ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจ และการเงิน เกี่ยวข้องกันทั่วโลกอยู่แล้ว แล้วจะมีนิยามออกมาว่าวิกฤตไหน GDP ต้องถอยเท่าไหร่, งานวิจัยต้องหายเท่าไร หรือค่าเงินต้องหายเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเคยเล่าให้ฟังแล้ว
นายพิธา ยอมรับว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีจริง โตช้าจริง ซึม และการฟื้นฟูหลังจากผ่านสถานการณ์โควิด ก็ยังช้าและแย่มากเป็นอันดับท้ายๆ ของโลก แต่สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาโครงสร้างทั้งหมด ไม่ใช่ว่าวิกฤตแล้วเศรษฐกิจหายไป 20% หรือตลาดหุ้นหายไปเกินครึ่งเหมือนตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือค่าเงินบาทปรับเป็น 50 บาทจาก 25 บาท
ดังนั้น ตอนนี้สถานการณ์ไม่เหมือนกันแล้ว พอสถานการณ์ไม่เหมือนกัน กลับไปบอกว่าเหมือนกัน มองว่า จ่ายยาผิดทันที หากจะจ่ายยาผิด เพราะวินิจฉัยอาการผิด ตอนนี้เศรษฐกิจมันซึมแล้ว ซึมยาวมานาน แต่ปัญหาโครงสร้างในการส่งออก-ถาคการผลิตยังเหมือนเดิม
สำหรับปีนี้งบประมาณล่าช้า แต่ตนยังรู้สึกว่าเมื่องบประมาณผ่านแล้วภาครัฐตั้งใจที่จะอัดโครงการที่เป็นประโยชน์ออกไปจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่สัมมนาหรือซื้อผ้าม่าน มีการอัดฉีดลงทุนในโครงสร้างเข้าไป ก็จะทำให้ GDP โตขึ้น
แต่ที่สำคัญที่สุดที่อยากจะชวนรัฐบาลหรือนายทักษิณด้วย คือ เวลาวัดเศรษฐกิจ ถ้าวัดผิดก็จะเป็นเข็มทิศที่ผิด ถ้าไปวัดแค่ GDP ว่าโตเท่าไหร่ มันไม่ได้วัดความเหลื่อมล้ำ จึงอยากขอให้ลองหาตัววัดเศรษฐกิจใหม่ๆ ในการดูแล เช่น การเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจตอนนี้เป็นอย่างไร หรือการวัดความร่ำรวยของประชาชน (GDP per capita)
ไม่ได้ดูแค่ระดับประเทศ แต่ดูระดับในจังหวัด ก็จะทำให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น เพราะเราเชื่อว่าไม่ใช่เป็นการบริหารเศรษฐกิจแบบน้ำหยดอย่างที่เคยชิน แต่เป็นการบริหารเศรษฐกิจแบบฐานรากขึ้นมา จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและเท่าเทียม
ส่วนวิธีการแก้ไขเฉพาะหน้าที่จะรวดเร็วที่สุด ที่จะเป็นทางออกให้กับประเทศคืออะไร นายพิธา กล่าวว่า ในตอนนี้ต้องลงรายละเอียดในเรื่องที่เปราะบางที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน เป็นเรื่องสำคัญจะต้องเร่งผ่านงบประมาณให้เศรษฐกิจเดินต่อ เรื่องภาคการผลิตมีปัญหา โดยเฉพาะภาค SME ก็ต้องหามาตรการที่ลดต้นทุนใน SME ลดค่าไฟ ลดค่าวัตถุดิบ สามารถทำให้ SME สามารถเข้าถึงเวทีโลกได้ เรื่องการเกษตรต่างๆ
แม้ผลผลิตจากราคาสูงขึ้น แต่ต้องเข้าไปดูว่าเรามีผลผลิตพอหรือไม่ บางเรื่องราคาลงขึ้นมา เพราะมีการแอบนำเข้า เช่น การนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซีย ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง ดังนั้น ต้องมีหลายมาตรการเข้าไปแก้ไข
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องมี Road Map ให้เห็นว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่ คนที่จะเข้าไปช่วย คนที่จะเข้าไปตรวจสอบ ต้องไปตรวจสอบใคร แต่ในขณะนี้ถ้าไม่มีอะไรนอกจากดิจิทัลวอลเล็ต มันก็เถียงกันในเรื่องแบบนี้ตลอดเวลา ภาพใหญ่กลายเป็นการโตกันไปโต้กันมา ไม่สามารถจะแนะนำอะไรไปได้มากกว่าที่ทำอยู่ แต่ถ้ามีแผนอย่างชัดเจนก็น่าจะทำได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews