ก้าวไกลรุมสับค่าแรง 400 เฉพาะกิจการโรงแรมจี้ทบทวน
ก้าวไกล รุมสับค่าแรง 400 เฉพาะกิจการโรงแรม 10 พื้นที่ “สส.เซีย” ให้ฉายา “ปรับค่าจ้างแบบศรีธนญชัย” เรียกร้องทบทวน ให้เป็นธรรม-เท่าเทียมทั่วประเทศ
สส.พรรคก้าวไกล นำโดย เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ และ สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 แถลงข่าวไม่เห็นด้วยต่อมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป นำร่องในเขตพื้นที่ 10 จังหวัด โดยเกือบทั้งหมดเป็นการปรับขึ้นเฉพาะบางเขตตำบล ยกเว้นภูเก็ตที่ปรับขึ้นทั้งจังหวัด ทั้งนี้จะนำเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน
นายเซีย กล่าวว่า คนทำงานทุกคนต้องกินต้องใช้เหมือนๆ กัน ตนเข้าใจหัวอกของผู้ใช้แรงงานดีว่าการเพิ่มค่าตอบแทนในแต่ละวัน จะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น เห็นด้วยกับการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่พี่น้องแรงงานทุกอุตสาหกรรมและต้องเท่ากันทั่วประเทศ แต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างเช่นนี้ โดยขอเรียกว่าเป็นการ “ปรับค่าจ้างแบบศรีธนญชัย”
ตนและเพื่อนสมาชิก เคยอภิปรายในที่ประชุมสภาฯ หลายครั้ง ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกวันนี้แค่อาหารหนึ่งมื้อก็มากกว่า 85 บาทแล้ว อาหาร 3 มื้อก็มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ยังไม่นับค่าเสื้อผ้า ค่าที่พักอาศัย ยารักษาโรค ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเดินทางไปทำงาน ค่าภาษีสังคม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ กระทรวงแรงงานกลับปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเฉพาะกิจการประเภทโรงแรมและเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น
โดยอ้างเหตุผลว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และ 10 พื้นที่เป้าหมายเป็นพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง จึงเป็นพื้นที่นำร่อง ตนขอฝากคำถามไปยังกระทรวงแรงงานว่า กิจการประเภทอื่นๆ ไม่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศนี้หรืออย่างไร และแรงงานที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากที่พวกท่านกำหนด กำลังแรงงานของพวกเขาไม่มีความสำคัญต่อประเทศนี้หรือ
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่และแต่ละประเภทกิจการ เป็นการทำงานแบบศรีธนญชัย ในอนาคตจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นและจะมีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานในพื้นที่ที่ค่าตอบแทนสูง เป็นผลให้เกิดการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ไม่กี่แห่ง และไม่เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค ราคาน้ำมัน ค่าไฟ ค่าเชื้อเพลิงทั่วประเทศ ไม่ได้แตกต่างกันเลย
สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ถ้ากระทรวงแรงงานเล็งเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงานจริง ควรพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศ จึงขอฝากข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล กระทรวงแรงงาน ให้พิจารณาทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ดังนี้
1. ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นธรรมตามหลักสากล ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน โดยปรับจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่การปรับเป็นอัตราค่าจ้างเพื่อชีวิต เพื่อให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
2. ด้วยเป้าหมายค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตามที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาตอนหาเสียงเลือกตั้ง ขอเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างฯ ปรับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ดังที่ สส. พรรคก้าวไกลเคยอภิปรายในที่ประชุมสภาฯ เนื่องจากสูตรที่ใช้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
แน่นอนว่าเมื่อนำสูตรการคำนวณมาใช้ ตามที่กระทรวงแรงงานได้ปรับขึ้นนั้น อย่างไรเสีย 600 บาทไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในปี 2570 แน่นอน ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ควบคู่กับการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ส่วนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละปี ให้เป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยประกาศของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรืออัตราเงินเฟ้อตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์
ด้านสหัสวัต ตั้งคำถามไปถึง รมว.แรงงาน และรัฐบาลว่า ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาเรื่องสูตรค่าแรงใหม่ แต่สูตรที่ออกมาแทบไม่ต่างจากเดิม และวันนี้ถ้าคำนวณตามสูตร ไม่มีทางเป็น 400 บาท จึงสงสัยว่าได้ยึดตามสูตรจริงหรือไม่ เรื่องนี้เป็นประเด็น เพราะเมื่อขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ จะอ้างว่ามีสูตรล็อกอยู่
นอกจากนี้ เวลาขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ สิ่งที่จะอ้างคือคณะกรรมการไตรภาคี แต่วันนี้ที่ขึ้นได้เป็นเพราะคณะกรรมการไตรภาคีหรือเพราะผลงานของ รมว.แรงงาน หรือรัฐบาล เอาให้ชัดว่าการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อำนาจอยู่ที่ใครกันแน่ อย่างไรก็ตาม วันนี้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท บอกเป็นผลงานรัฐบาล แต่พอขึ้นไม่ได้ เป็นความผิดของคณะกรรมการไตรภาคี
นายเซีย กล่าวอีกว่า สิ่งที่แปลกประหลาดมากที่สุดจากเรื่องนี้ ในฐานะที่ตนทำงานในขบวนการแรงงาน ไม่เคยเห็นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศเพิ่มแค่เฉพาะหนึ่งตำบลในลักษณะนี้มาก่อน ไม่เข้าใจว่ากระทรวงแรงงานทำงานแบบไหน โดยหวังว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะพิจารณาทบทวนการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ และเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้คือ 600 บาทในปี 2570 ส่วนจะทำอย่างไรนั้น ต้องไปถามพรรคเพื่อไทยว่ามาตรการในการปรับเพิ่มที่เรียกว่าแบบขั้นบันไดนั้น วิธีการเป็นอย่างไร มีกำหนดการ รายละเอียดอย่างไร
สิ่งที่เกิดขึ้น กำลังเล่นละครตบตาผู้ใช้แรงงานหรือไม่ การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อตอน 1 มกราคม 2567 ระหว่าง 2-16 บาท ท่านนายกฯ พึงพอใจหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไร ที่นายกฯ เคยบอกให้กลับไปทบทวนก่อนจะปรับขึ้น แต่สุดท้ายก็ยอมจำนน ไม่เคยพูดเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ทั้งที่นี่คือแนวนโยบายของรัฐบาลในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามที่เคยสัญญา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews