วุฒิสภา มีมติรับร่าง พรบ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว ไว้พิจารณา ขณะรัฐมนตรีเทตอบ 9 กระทู้ อ้างติดภารกิจ ขอเลื่อนไปก่อน ด้าน สว.เจตน์ โวยไม่ให้เกียรติกัน
การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (1 เม.ย.67) นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า วุฒิสภามีกระทู้ถามเป็นหนังสือจำนวน 8 กระทู้ ปรากฏว่ากระทู้ที่ตั้งถามโดยสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 8 กระทู้ ไม่มีรัฐมนตรี เดินทางมาตอบ เนื่องด้วยติดภารกิจ จึงทำให้วาระการพิจารณากระทู้ที่ตั้งถามโดยสมาชิกวุฒิสภาเป็นอันต้องเลื่อนออกไปก่อน
ทำให้นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ลุกขึ้นกล่าวว่า การเลื่อนตอบกระทู้ คงเป็นเรื่องที่เลื่อนไม่ได้ เนื่องจากวันนี้ เป็นวันจันทร์สุดท้ายของสมัยการประชุมนี้ ปรากฏว่ามีรัฐมนตรีเลื่อนตอบทั้ง 8 กระทู้
โดยการติดภารกิจพร้อมกันถึง 8 กระทู้ รัฐมนตรี 8 ท่านคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ให้เกียรติวุฒิสภา แต่กระทู้มีความสำคัญเป็นของตนเอง และก่อนการตั้งกระทู้สมาชิกวุฒิสภาแต่ละท่านได้ค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเอง ทั้งแรงกายและแรงใจ ตนจึงขอถอนกระทู้ตั้งถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปตั้งถามในวันที่ 3 กรกฎาคมต่อไป แม้เป็นช่วงรักษาการวุฒิสภาก็ตาม
นอกจากนั้น ยังมีวาระพิจารณากระทู้ถามด้วยวาจาอีกจำนวน 1 กระทู้ ที่ตั้งถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเรื่องยาบ้า 5 เม็ด ที่รัฐมนตรีติดภารกิจไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว โดยสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.)
และเพิ่มเติมแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตต่อหน้าที่ที่ต้องดำเนินการแทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และกำหนดเลขาธิการ ป.ป.ช. ไม่สามารถมอบหมายการเป็นกรรมการในคณะกรรมการ ป.ป.ท. ให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งร่างกฎหมายนี้ยังแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ
สำหรับกรณีผู้ถูกกล่าวหากระทำการไปโดยสุจริตและเป็นไปเพื่อประโยชน์ราชการ และกรณีหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีวิธีปฏิบัติหรือการดำเนินการที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนและความเสียหายต่อราชการ
สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของวุฒิสภาในครั้งนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล และคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทำการศึกษาร่างพระราชบัญญัติไว้เป็นการล่วงหน้า
เมื่อสมาชิกอภิปรายแล้วส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วย โดย เห็นว่า ร่างกฎหมายนี้ช่วยให้การดำเนินการเรื่องการป้องปรามการทุจริตในภาครัฐมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ ป.ป.ท.ทำงานได้อย่างคล่องตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีสมาชิกตั้งข้อสังเกตถึงความชัดเจนการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.ในคดีทุจริต ตามร่างกฎหมายนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวุฒิสภาพิจารณาแล้ว ที่ประชุมมีมติรับไว้พิจารณา ด้วยมติ 197 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย จำนวน 26 คน ให้เวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews