Home
|
ข่าว

“ณัฐชา-ก้าวไกล” รับหนังสือเครือข่ายประมง 6 จังหวัด

Featured Image
“ณัฐชา-ก้าวไกล” รับหนังสือเครือข่ายประมง 6 จังหวัด วอนช่วยเหลือผลกระทบ “ปลาหมอคางดำ” เผยรับเคราะห์มา 18 ปี ฝากถึง นายกฯหากไร้ความคืบหน้า เตรียมรวมตัวส่งปลาหมอคางดำ 10 ตันให้ถึงหน้าทำเนียบฯ

 

 

 

 

 

ตัวแทนเครือข่ายประมง 19 องค์กร จาก 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ อ่าวบางประกง ฉะเชิงเทรา และเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ รวมตัวยื่นหนังสือผ่าน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ส.ส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล เพื่อส่งต่อไปถึงนายกรัฐมนตรีให้ช่วยแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ เอเลี่ยนสปีชีย์ที่นำเข้ามาวิจัยโดยบริษัทการเกษตรยักษ์

 

 

ใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาหลุดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ชาวประมงในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากปลาชนิดนี้กินสัตว์น้ำชนิดอื่นจนหมด ไม่ว่าปลา กุ้ง หอย สร้างวิกฤตหนักต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ 18 ปีแล้ว หากไร้การช่วยเหลือ จะเตรียมรวมตัวหน้าทำเนียบพร้อมปลาหมอคางดำ 10 ตัน
ส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรี

 

 

ภายหลังรับหนังสือ นายณัฐชา กล่าวกับพี่น้องชาวประมงว่า เรื่องนี้มี 2 ประเด็นสำคัญที่ต้องจัดการ หนึ่งใครเป็นคนนำปลาชนิดนี้เข้ามาต้องรับผิดชอบ เพราะสร้างผลเสียให้พี่น้องประชาชนอย่างมาก บริษัทยักษ์ใหญ่ในวันนั้น บอกว่านำเข้ามาวิจัย 2,000 ตัว แต่ไม่สำเร็จ จึงฆ่าตายกลบฝังหมดแล้ว แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ปลาหมอคางดำ เริ่มระบาดครั้งแรกในแหล่งน้ำใกล้เคียงจุดที่บริษัทแห่งนั้นนำปลามาเลี้ยงวิจัย การกลบฝังที่ว่าอาจไม่ต่างจาก

 

 

กรณีแคดเมี่ยม ปล่อยปละละเลย จนทำให้ของที่บอกว่าฝังดินไปแล้วกลับมาสร้างความเสียหาย วันที่เขาบอกว่าฝัง ฝังจริงหรือไม่ ได้ไปดูกับตาหรือเปล่า เรื่องนี้ภาครัฐต้องตรวจสอบพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า ปลาหมอคางดำระบาดได้อย่างไร ใครเป็นต้นเหตุ ส่วนประเด็นที่สอง คือการเยียวยาและความรับผิดชอบ เพราะระหว่างที่ยังตรวจสอบหาผู้กระทำผิด ชาวบ้านยังเดือดร้อน ความเสียหายเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดูแลด้วย

 

 

 

โดยเรื่องนี้ ตนได้ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไปเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว คีย์เวิร์ดสำคัญคือรัฐมนตรีตอบว่า เพิ่งทราบเหมือนว่าปัญหามันวิกฤตขนาดนี้ เลยถามไปว่าเมื่อทราบแล้วทำอะไรเท่าที่รู้ มีการขยับแก้ปัญหาไปแล้วระดับหนึ่ง เช่น ปล่อยปลานักล่าปลาหมอคางดำไปจังหวัดละ 10,000 ตัว และให้กรมประมงรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 7 บาท แต่พอติดตามลึกลงไปพบว่าแนวทางเหล่านี้ไม่สัมฤทธิ์ผลในเชิงปฏิบัติ เช่น ปล่อยปลาที่ว่าจะไปล่า เอาเข้าจริงไม่รู้ว่าล่าหรือไม่ เพราะคนในพื้นที่บอกปล่อยไปไม่นานมันก็ตายเกือบหมดเหลือไม่กี่ตัว ส่วนการรับซื้อก็ใช้เวลาเบิกจ่ายนานมาก

 

 

จนไม่จูงใจในการล่าปลาชนิดนี้ นี่เป็นเหตุผลให้พี่น้องต้องมายื่นหนังสืออีกครั้ง โดยเสนอทางแก้ด้วยการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายเพื่อรับซื้อ มีภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้ประกอบการ ควรมีงบประมาณลงไปในแต่ละจังหวัดเพื่อจัดการปัญหากันได้เอง รวมถึงการปล่อยปลาจะต้องปล่อยหลายสายพัธุ์ เมื่อจำนวนปลาหมอคางดำลดลงแล้วจากมาตรการแรก

 

 

ประเด็นสำคัญคือ ชาวบ้านเริ่มมีข้อสงสัยว่า การที่ปลาหมอคางดำหลุดจากงานวิจัยสู่ธรรมชาติไม่ใช่การหลุด แต่คือความตั้งใจ เพื่อให้ชาวบ้านไม่สามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ เลี้ยงกุ้งก็โดนกิน เลี้ยงหอยก็โดนกินเลี้ยงอะไรก็เจ๊ง บริษัทเดียวที่ขายได้คือบริษัทที่เอาปลาพันธุ์นี้เข้ามา ดังนั้น 18 ปีที่พี่น้องต้องทนทุกข์ทรมานต้องมีการช่วยเหลือ ผมจะรับหนังสือข้อเรียกร้องเหล่านี้ส่งต่อให้ฝ่ายบริหารดำเนินการและดูว่าจะตอบรับอย่างไร

 

 

ถ้าไม่มีความคืบหน้ากลับมา เรามาร่วมกันต่อสู้แน่นอน เราต้องทำให้ทุกคนในสังคมตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ต่างจากการระบาดของโคโดนไวรัสลัมปีสกิน หรือหมูโดน ASF เรื่องนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ รับชะตากรรมมา 18 ปีแล้วถึงเวลาต้องได้รับการดูแลเสียที

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube