“ชัยธวัช” รับอยากให้รัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ แนะข้าใจง่าย ไม่ต้องมีเงื่อนไขซับซ้อน ถามกลับ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 คนที่โหวตเห็นด้วย เขาเห็นด้วยกับอะไร
นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลแถลงเห็นชอบในหลักการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยการทำประชามติครั้งแรก จะใช้คำถามว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ว่า จากที่ดูตามเอกสารก็ยังไม่ชัดเจนว่า ตกลงแล้วคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอย่างเป็นทางการต่อเรื่องนี้แล้วหรือไม่
ในมุมมองของพรรคก้าวไกล มองว่า หากยังมีเวลาอยากให้รัฐบาลไปทบทวน ตั้งคำถามทำประชามติอย่างกว้างที่สุด เข้าใจง่าย ไม่ต้องมีเงื่อนไขซับซ้อน เช่น ถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนฉบับเก่า ซึ่งหากรัฐบาลมีข้อกังวลเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 รัฐบาลเองรวมถึง สส. ก็สามารถแก้ไขรายละเอียดด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมสภา หลังการทำประชามติได้
นายชัยธวัช เน้นย้ำถึงเหตุผลว่า หลักของการทำประชามติคือต้องเข้าใจง่าย แต่หากตั้งคำถาม โดยมีเงื่อนไขว่า ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 คนที่โหวตเห็นด้วย เขาเห็นด้วยกับอะไร ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียง เขาไม่เห็นด้วยกับอะไร ไม่เห็นด้วยกับการตั้งเงื่อนไขเว้นบางหมวด หรือไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยากจะอยู่กับรัฐธรรมนูญ 60 ดังนั้น จะตีความผลประชามติอย่างไร
อีกทั้งคำถามประชามติที่ไม่ซับซ้อน จะมีโอกาสทำให้ประชามติผ่านง่ายขึ้น สามารถรวมคะแนนเสียงได้เป็นเอกภาพมากที่สุด แทนที่จะมีคะแนนเสียงบางส่วนที่อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข จึงโหวตไม่เห็นชอบ หรือไม่โหวตเลย ก็จะน่าเสียดาย เพราะเราคงไม่ได้ทำประชามติกันบ่อยๆ ทางฝ่านค้านก็อยากให้การทำประชามติมีโอกาสผ่านมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติปัจจุบัน ที่มีเงื่อนไขเสียงข้างมากสองชั้น หรือ double majority พร้อมย้ำ พรรคก้าวไกลสนับสนุน อยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เร็วที่สุด ไม่มีเจตนาขัดขวาง
ดังนั้น เวลาที่เหลืออยู่ ในขณะที่ ครม.ไม่ชัดเจนว่า มีมติเป็นทางการแล้วหรือยัง แปลว่ายังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนได้ ก็อยากให้ทบทวนส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 คนในรัฐบาลบางคน พยายามสร้างความเข้าใจว่า พรรคก้าวไกลต้องการจะแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 มาก จึงคัดค้านคำถามแบบนี้ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะหลักการพื้นฐาน หากอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญก็ควรจะแก้ได้ทั้งหมด ไม่ควรจะวางบรรทัดฐานทางการเมืองแบบนี้ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์
นายชัยธวัช ย้ำด้วยว่า รัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจอย่างเดียว แต่มีเรื่องอื่นด้วย สมมติว่าในอนาคตมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา แล้วให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว เหมือนประเทศไทยในอดีต แต่ในหมวด 1 มีถ้อยคำวุฒิสภาอยู่ จะเอาออกอย่างไร จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขถ้อยคำ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจเลย ซึ่งอาจมีปัญหาทางเทคนิคเกิดขึ้นได้
ขณะเดียวกัน นายชัยธวัช กล่าวถึงกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จริงๆ โผเยอะมาก ตนไม่แน่ใจว่าต้องให้ความเห็นบทพื้นฐานโผไหน แต่ตนคิดว่าไม่ว่าจะเป็นโผไหน สิ่งสำคัญที่สุดหากมีการปรับ ครม. จริง สิ่งที่ประชาชนคาดหวังนอกจากจะเห็นการปรับเพื่อให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น กว่าครึ่งปีที่ผ่านมาซึ่งหมายความว่าคงต้องมุ่งเน้นบุคลากรที่ให้เหมาะสมกับงานมากกว่าจะเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนเก้าอี้กันตามโควต้าทางการเมือง หากออกมาเป็นแบบนั้นก็น่าจะไม่ได้ส่งผลดีต่อรัฐบาล เพราะคงทำให้ประชาชนผิดหวัง
ส่วนในแง่ของความมั่นคงมีกระแสออกมาว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะเปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้นายกฯ ควบ รมว.กลาโหม และพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ มาเป็น รมช.กลาโหม นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น รมว.หรือรมช. สิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่นว่าจะเกิดการปฏิรูปกองทัพได้หรือไม่ ภายใต้สภาวะทางการเมืองเช่นนี้ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับว่าที่รัฐมนตรีช่วยก็คงมีหลายเสียงแม้กระทั่งประชาชนที่จะสนับสนุนรัฐบาล ก็มีเสียงไม่เห็นด้วยและวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน
สำหรับกรณีกระแสข่าวที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม และนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข จะถูกปรับออกจากรัฐมนตรีแล้วกลับมาช่วยงานในสภาฯ ซึ่งอาจจะเป็นวิปรัฐบาลหรือตำแหน่งต่างๆ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน มองว่า การทำงานหลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ในส่วนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล ซึ่งหากมีการเปลี่ยนตัวนายสุทินจริง
จริงๆ พรรคก้าวไกลเราเห็นด้วยที่จะมีการสานต่อการแก้ไขร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งฝ่ายค้านมีข้อเสนอและมีข้อกฎหมายของตนเองเช่นกัน และหวังว่าไม่ว่ารัฐมนตรีจะเปลี่ยนหรือไม่เราก็อยากเห็นรัฐบาลเริ่มปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews