“สว.วัลลภ” เชื่อ พรบ.สมรสเท่าเทียม แล้วเสร็จ พค.นี้ เตรียมเชิญผู้แปรญัตติ ชี้แจง พร้อมชื่นชมร่างของภาคประชาชนว่าน่าสนใจ
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส กล่าวถึงการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้มาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งการพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และในที่ประชุมก็เห็นพ้องต้องกันว่าจะพิจารณาเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน
ทั้งนี้ ได้มีการถกกันในประเด็นหลัก เช่น คำว่า “สามี-ภรรยา” จะเอาหรือไม่เอา ชายหรือหญิงจะเอาหรือไม่เอา คู่สมรสหรือคู่ชีวิตเป็นต้น รวมทั้งการหมั้น การแต่งงาน ดูทั้งหมดแล้ว และเห็นพ้องต้องกันแล้ว โดยมีการประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คาดว่าอีก 5-6 ครั้ง ก็น่าจะจบ และในต้นเดือนหน้าจะเชิญผู้แปรญัตติ 3 คน มาแปรญัตติกับกรรมาธิการ หลังจากนั้นก็จะไล่เรียงเป็นรายมาตรา ซึ่งก็ได้เรียงรายมาตราไปแล้ว 14 มาตรา จาก 68 มาตรา
ดังนั้น เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ที่จะพิจารณาเกี่ยวกับงบประมาณปี 68 ตนก็จะหารือประธานวุฒิสภา เพื่อขอเปิดวิสามัญในช่วงเวลาเดียวกันด้วย เพื่อนำกฎหมายที่ค้างอยู่ใน ชั้นของวุฒิสภา 2 ฉบับ คือ 1. กฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น และ 2.กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะเร่งเพื่อที่จะนำเข้าสู่การประชุมสมัยวิสามัญให้ได้พร้อมกัน รวมถึงการให้ความเห็นชอบบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ น่าจะเข้าประชุมวิสามัญได้ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ และนี่เป็นภารกิจเร่งด่วนที่เราจะสามารถทำทุกอย่าง ได้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะพ้นวาระวุฒิสภา
ขณะเดียวกัน นายวัลลภ ยังชื่นชมร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของภาคประชาชนว่า เป็นร่างที่น่าสนใจ เพราะมีการเทียบเคียงกับกฎหมายเดิม เอาบริบทความเข้าใจของสังคมไทยมาใส่ด้วย รวมถึงเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาผสมผสาน และเอามุมมองความคิดที่โลกนี้เป็นโลกที่ไร้เพศ สามารถอยู่ด้วยกันได้ เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยแท้ ซึ่งร่างของรัฐบาลรับร่างของประชาชนมาแล้วร้อยละ 80 เมื่อมาถึงในชั้นของกรรมาธิการวุฒิสภา ก็มีการถกกันค่อนข้างหนักและยังมีประเด็นที่ติดค้าง ข้องใจอยู่ก็มาพูดคุยกัน
ทั้งเรื่องการหมั้นการแต่งเรื่องคำว่าชายหญิงควรมีหรือไม่ การรอไว้ 120 วันช้าไปหรือไม่ สามารถบังคับใช้ทันทีได้หรือไม่ เราได้มีการพูดคุยกันหมดแล้ว และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาอะไรเป็นที่หนักใจเลย ทางฝ่ายประชาชนและฝ่ายวุฒิสภา
ส่วนเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับศาสนาก็ได้มีการพูดคุยกันแล้ว ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายหลายฉบับ ก็มีหลักศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องก็ผ่านกันมาได้ เพราะมีข้อยกเว้นตามหลักศาสนาอยู่แล้ว ทางมหาดไทยก็บอกว่าในการอบรมเจ้าหน้าที่ก็เข้าใจได้การปฏิบัติหน้าที่คือการปฏิบัติหน้าที่ หลักศาสนาคือหลักศาสนาไม่มีการบังคับกัน และยังมีข้อยกเว้นหากเป็นมุสลิมไม่อยากจัดการสมรสขึ้นทะเบียนให้กับบุคคลเหล่านี้เราก็สามารถเว้นการดำเนินการได้ โดยให้คนที่เป็นพุทธมาดำเนินการให้แทนได้ ซึ่งมีการวางระเบียบไว้แล้วและง่ายมาก ซึ่งประเด็นนี้ก็ไม่มีปัญหา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews