ทอท.ชี้มีแผนใช้ “สนามงู” สร้างแท็กซี่เวย์คู่ขนาน ยกระดับดอนเมือง
กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ เชิญ 3 หน่วยงานร่วมถกถ่ายโอน “สนามงู” ทอท.ชี้มีแผนสร้างแท็กซี่เวย์คู่ขนาน ยกระดับดอนเมืองรับผู้โดยสารเพิ่มปีละ 3 ล้านคน เงินสะพัดอย่างน้อย 6 พันล้านบาท เทียบกับรายได้สนามกอล์ฟแค่ปีละ 20 ล้าน
นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพฯ เปิดเผยและให้ความเห็นต่อผลการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ในกรณีการถ่ายโอนสนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือ “สนามงู” ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสองรันเวย์ของสนามบินดอนเมือง โดยมีการเชิญตัวแทนจากกองทัพอากาศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) มาให้ความเห็น
นายพิจารณ์ ระบุว่า การประชุมครั้งนี้ โดยหลักแล้ว เป็นการสอบถามความเห็นจากทั้ง 3 หน่วยงานเกี่ยวกับการถ่ายโอนสนามกอล์ฟกานตรัตน์ แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก คือด้านความปลอดภัยและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เริ่มจากตัวแทนของกองทัพอากาศที่ชี้แจงว่า การมีอยู่ของสนามกอล์ฟกานตรัตน์ไม่ส่งผลต่อปัญหาด้านความปลอดภัย
โดยอ้างอิงกฎระเบียบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในภาคผนวกที่ 17 ว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัย (security) ซึ่งกองทัพอากาศระบุว่าได้ทำถูกต้องทุกอย่างแล้ว เช่น กำหนดให้มีการตรวจค้นผู้เล่นที่จะเข้าพื้นที่เฝ้าระวัง การอบรมผู้ช่วยนักกอล์ฟหรือแคดดี้ ดังนั้น ในแง่มาตรฐานความปลอดภัยถือว่าผ่านเกณฑ์ ไม่มีอะไรน่ากังวล
ส่วนในด้านการใช้ประโยชน์ กองทัพอากาศมองว่า ทอท.ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่สนามกอล์ฟกานตรัตน์อย่างไร ดังนั้น การถ่ายโอนสนามกอล์ฟกานตรัตน์ให้ ทอท.น่าจะเป็นภาระมากกว่าการใช้ประโยชน์ ขณะที่การให้กองทัพอากาศใช้ประโยชน์ต่อไปจะเป็นประโยชน์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจาก กพท.ได้แสดงข้อกังวลถึงปัญหาด้านความปลอดภัย โดยอ้างอิงกฎระเบียบของ ICAO ในภาคผนวกที่ 14 ที่ระบุว่า จากกึ่งกลางของรันเวย์สองข้างต้องมีพื้นที่โล่งข้างละ 140 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องบินชนกับวัตถุอื่นหากเกิดกรณีเครื่องบินลงจอดแล้วลื่นไถลออกนอกรันเวย์
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าทั้งสนามกอลฟ์กานตรัตน์และสนามบินดอนเมืองต่างก็เกิดขึ้นมาก่อนการกำหนดมาตรฐานของ ICAO เพียงแต่มีการชดเชยตามเงื่อนไขที่ ICAO ยอมรับว่าเป็นความเสี่ยงภัยที่ยอมรับได้ โดยสนามบินดอนเมืองได้ชดเชยให้ผิวรันเวย์มีแรงเสียดทานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และปัจจุบันมีแผนดำเนินการที่จะขยับรางน้ำออกไปให้อยู่ในระยะ 105 เมตร แต่ด้วยความที่ยังไม่ถึง 140 เมตรตามมาตรฐาน การมีอยู่ของสนามกอล์ฟกานตรัตน์จึงเป็นอุปสรรคในการดำเนินการตามมาตรฐานของ ICAO ให้เป็นไปโดยสมบูรณ์
ขณะที่ตัวแทนจาก ทอท.ได้ชี้แจงในประเด็นสำคัญ โดยโต้แย้งกองทัพอากาศว่า ทอท.มีแผนที่จะใช้พื้นที่บริเวณสนามกอล์ฟกานตรัตน์ทำทางขับคู่ขนาน (parallel taxiway) ไปกับรันเวย์ทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของสนามบินดอนเมือง จากเดิม 60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง กลายเป็น 70-75 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ ทอท.ยังระบุว่า ทุก 1 เที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นต่อชั่วโมงจะเท่ากับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านคนต่อปี หากประเมินในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจ อาจไม่จำเป็นต้องคำนวณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้น 10-15 เที่ยวต่อชั่วโมงก็ได้ เพราะในความเป็นจริงเที่ยวบินเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นเที่ยวบินพาณิชย์ทั้งหมด อย่างน้อยคำนวณแค่ 3 เที่ยวบินต่อชั่วโมงก็พอ เมื่อคูณเข้าไปจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านคนต่อปีเป็นอย่างน้อย และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเมินได้จากการใช้จ่ายของผู้โดยสารจะตกอยู่ประมาณ 6,000-10,000 ล้านบาทต่อปี
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างรายได้ปัจจุบันของสนามกอล์ฟกานตรัตน์ที่ในปี 2566 มีรายได้ราว 20 ล้านบาท และมีการส่งเข้ากองทุนสวัสดิการกองทัพอากาศ 5.5 ล้านบาท กับ 6,000-10,000 ล้านบาทต่อปีจากการให้ ทอท.ใช้ประโยชน์ จะเห็นถึงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้น ทางคณะกรรมาธิการฯ ยังต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมอีก และจำเป็นต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก ทอท.ให้ชี้แจงรายละเอียดเป็นเอกสารว่าอาศัยวิธีการคำนวณแบบใด ขณะที่กองทัพอากาศก็แย้งว่าสนามบินดอนเมืองไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินต่อชั่วโมงอย่างที่ ทอท.กล่าวอ้างได้ เพราะมีข้อจำกัดด้านการจราจรทางอากาศ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะขอข้อมูลจากบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยต่อไปเช่นกันว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
ถ้าเอาความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง การยกเลิกสนามงูจะทำให้ความปลอดภัยของสนามบินดอนเมืองสูงขึ้น จะทำให้รางน้ำตามแนวรันเวย์สามารถขยับมาอยู่ในแนวที่ห่างจากจุดกึ่งกลางรันเวย์ 140 เมตรได้ ส่วนเรื่องการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยังต้องพิสูจน์กันในแง่คณิตศาสตร์ ว่าการลงทุนให้เกิดทางแท็กซี่คู่ขนานจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินต่อชั่วโมงได้หรือไม่ หากทำได้จริง เพียงแค่ 3 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เรากำลังพูดถึงผู้โดยสารถึง 3 ล้านคนที่เพิ่มขึ้นต่อปี ซึ่งเป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 6 พันล้านบาทต่อปี
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews